มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม มพส

ข่าวสารและกิจกรรม

ข่าวทั่วไป

บทความ

บทความ

ความจำเป็นของการจัดรับฟังความคิดเห็น
ต่อแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า PDP-2007

โดย คุณสุวพร  ศิริคุณ ผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม

เมื่อกลางเดือนมกราคม 2552 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นประธานครั้งแรก ได้เห็นชอบแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) พ.ศ. 2551-2564 (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2) โดยกระทรวงพลังงานได้แถลงข่าวว่า เป็นการปรับปรุงแผน PDP-2007 ให้สอดคล้องกับค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าที่ลดลงตามสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ และรักษากำลังการผลิตสำรองในระดับร้อยละ 15-20 โดยมีการปรับเลื่อนโครงการของ กฟผ. และ IPP ออกไป และทบทวนการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน

อย่างไรก็ตาม เมื่อมติ กพช. ดังกล่าวถูกนำเสนอ ครม. ได้มีการสอบถามถึงการดำเนินการตามกระบวนการที่ครบถ้วนว่า แผนดังกล่าวได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นแล้วหรือไม่ ซึ่งต่อมากระทรวงพลังงานได้มีแผนจะจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการในเรื่อง PDP ฉบับปรับปรุงใหม่ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552 นี้ ซึ่งการจัดสัมมนาครั้งนี้ไม่อาจถือได้ว่าเป็นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่มีความสมบูรณ์และถูกต้องตามกฎหมายการประกอบกิจการพลังงาน

ณ ปัจจุบัน แผน PDP ฉบับดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาและเสนอความเห็น โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ Regulator ซึ่งเป็นหน้าที่ตามมาตรา 9 (3) และมาตรา 11 (5) ของ พรบ. การประกอบกิจการพลังงาน คือ เสนอความเห็นต่อแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า แผนการลงทุน แผนการขยายโครงข่ายไฟฟ้าต่อคณะรัฐมนตรี แต่ยังขาดหน้าที่ตามมาตรา 79 ที่กำหนดไว้ว่า ในการพิจารณาแผนการขยายระบบโครงข่ายพลังงาน (ไฟฟ้า) ของรัฐโดยคณะกรรมการนั้น หากแผนดังกล่าวมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียสำคัญของประชาชน ให้คณะกรรมการจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตามแนวทางที่คณะกรรมการกำหนด

องค์ประกอบของแผน PDP หรือแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ นั้น ไม่ได้มีเพียงเฉพาะแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าเท่านั้น แต่จะรวมถึงแผนการลงทุนในระบบสายส่งของ กฟผ. ด้วย ซึ่งโครงข่ายไฟฟ้าตามนิยามของกฎหมายก็คือระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้านั่นเอง และเนื่องจากในการวางแผนการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่นั้น จำเป็นต้องมีแผนระบบส่งที่สอดคล้องกันด้วย จึงไม่สามารถแยกแผนกำลังการผลิตไฟฟ้ากับแผนระบบส่งไฟฟ้าออกจากกันได้ Regulator จึงจำเป็นต้องเป็นผู้จัดรับฟังความคิดเห็นตามแนวทางที่กำหนดไว้ มิฉะนั้น แล้วการดำเนินการที่ไม่ครบถ้วนอาจนำมาซึ่งการฟ้องร้องเอาผิดรัฐได้

ในมุมมองของกระทรวงพลังงานอาจมองว่า การรับฟังความคิดเห็นเป็นเพียงการทำหน้าที่ให้ครบถ้วนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยไมได้พิจารณาถึงขอบเขตอำนาจของกฎหมายกำกับกิจการพลังงาน และอาจยึดแนวทางการปฏิบัติของการปรับปรุง PDP-2007 ครั้งที่ 1 ที่ครั้งนั้นกำลังการผลิตไฟฟ้าไม่เปลี่ยน และเป็นการบรรจุโครงการดำเนินการที่มีความชัดเจนเข้าไปในแผน โดยในการปรับปรุงครั้งที่ 2 นี้ กระทรวงพลังงานเห็นว่ากำลังการผลิตลดลงและยังคงอยู่ในกำลังการผลิตเดิมของแผน PDP-2007 07 จึงไม่กระทบผู้มีส่วนได้เสียและไม่จำเป็นต้องจัดการรับฟังความคิดเห็น

อย่างไรก็ตาม หากผู้เกี่ยวข้องได้มีโอกาสศึกษารายละเอียดของแผน PDP ที่ปรับปรุงในครั้งที่ 2 จะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ ซึ่งประเด็นนี้ Regulator เองก็ได้ให้ความเห็นไว้แล้วเช่นกัน ในแผนใหม่นี้แม้มีการปรัดลดกำลังการผลิตลงจากส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ แต่กลับมีการเพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าใหม่ที่ไม่เคยมีกำหนดในแผนมาก่อน โดยเฉพาะ โรงไฟฟ้าใหม่ที่ อ.ขนอม โดยเหตุผลเพื่อรองรับการขยายกำลังการผลิตก๊าซ LPG ของ ปตท. และโรงไฟฟ้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นอีกจำนวนมากส่วนใหญ่เป็นโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ของ กฟผ. ในช่วงปี พ.ศ. 2560-2563 ซึ่งจะมีถึง 2,200 เมกะวัตต์ โดยมี IPP ใหม่ 1,600 เมกะวัตต์ (นอกจากที่ อ.ขนอม) ในปี 2560 และ 2564 และเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP เพิ่มขึ้นอีก 217 เมกะวัตต์ ซึ่งการเพิ่มโรงฟ้าเหล่านี้แม้จะด้วยเหตุผลความมั่นคงต่อระบบของประเทศ แต่การที่กระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย การจัดรับฟังความคิดเห็นตามกระบวนการที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง

และหากมองย้อนไปถึงที่มาของการปรับปรุงแผน PDP ในครั้งนี้ โดยคณะกรรมการพิจารณาการปรับปรุงแผนฯ มีองค์ประกอบเพียงผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ปตท. และ กฟผ. โดยไม่มีผู้มีส่วนได้เสียอื่น เช่น ผู้แทนจากผู้ใช้ไฟฟ้า NGO นักวิชาการ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับแผน PDP ที่มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดในแผนอย่างมีนัยสำคัญ ที่จะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นที่ถูกต้องตามกระบวนการ มิฉะนั้นแล้ว แผน PDP ที่ปรับปรุงใหม่นี้จะมีเพียงผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง คือ เฉพาะ ปตท. และ กฟผ. เท่านั้น ซึ่งการเพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าใหม่ทั้งสองหน่วยงานได้ประโยชน์โดยตรง นอกจากนั้น การที่กรรมการบางท่านมีสถานะเป็นกรรมการในบอร์ดของรัฐวิสาหกิจเหล่านั้น ก็อาจเป็นประเด็นที่ขัดกับกฎหมายทางปกครอง ในการพิจารณาโครงการลงทุนที่มีส่วนได้เสียกับรัฐวิสาหกิจนั้นๆ ได้

การท้วงติงข้างต้น มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ไม่ได้มีเจตนาของการขัดขวางหรือไม่เห็นด้วยต่อการปรับปรุงแผน PDP-2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 นี้ เพียงแต่เป็นการท้วงติงให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ทั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานและกระทรวงพลังงาน ได้ดำเนินการตามกระบวนการให้ครบถ้วน ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาที่ถูกฟ้องร้องและเอาผิดจากผู้มีส่วนได้เสียอื่นภายหลัง ดังเช่นกรณีการแปรรูป กฟผ. ที่ผ่านมา

Copyright © 2011 Energy For Environment Foundation. All right reserved.
812/66 ซอยประชาชื่น 26 ถนนประชาชื่น แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800
โทรศัพท์ +66 2115 5895  E-mail : jutamas.efe@gmail.com