มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม มพส

ข่าวสารและกิจกรรม

ข่าวทั่วไป

บทความ

บทความ

ธรรมาภิบาล : เงื่อนไขสำคัญของการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย
โดย ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ (ประธานที่ปรึกษา มพส.)

รัฐบาลใหม่กำลังเข้ามารับภาระในการบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่สภาพแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจในระดับมหภาคกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ดังจะเห็นได้จากตัวเลขเศรษฐกิจไทยของเดือนสิงหาคม 2549 และตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนกันยายน แม้ว่าการบริโภคและการลงทุนในประเทศยังซบเซาต่อเนื่องก็ตาม

การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกโดยทั่วไปยังอยู่ในเกณฑ์ดี ยกเว้นสหรัฐอเมริกาที่การขยายตัวอ่อนแรงลงอย่างชัดเจนจากภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้การชะลอลงของภาคอสังหาริมทรัพย์มักมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะเวลาต่อมา แต่การขยายตัวของเศรษฐกิจเอเซียและยุโรปน่าจะบรรเทาผลกระทบของการชะลอลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯได้พอสมควร ดังนั้นการส่งออกของไทยน่าจะสามารถขยายตัวได้ต่อไปในอัตรากว่า 10% ต่อปี

อัตราดอกเบี้ยในสหรัฐอเมริกาน่าจะถึงจุดสูงสุดแล้วและอาจลดลงเร็วกว่าที่คาดไว้เดิมคือตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2550 หรือประมาณ 8 เดือนหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐยุติการขึ้นดอกเบี้ย (ใกล้เคียงกับพฤติกรรมของธนาคารกลางสหรัฐฯในอดีต) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรในสหรัฐที่ลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะชะลอลงมากจนทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่ต้นปี 2550 ในขณะที่การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินของญี่ปุ่นและสหพันธ์ยุโรปเป็นไปอย่างค่อนข้างช้าและอาจไม่เพิ่มขึ้นอีกมาก อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯที่คาดว่าจะลดลงในช่วงต้นปีหน้า ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อไทยที่ลดลงสู่ระดับ 2.7% ในเดือนกันยายนที่ผ่านมาและคาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำต่อไป และเงินบาทที่ค่อนข้างแข็งมาก จะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยได้ในช่วงต้นปีหน้าเช่นเดียวกัน

ราคาน้ำมันลดลงมาก และดูเหมือนว่าจะเริ่มทรงตัวในระดับ 60-65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพราะระดับต่ำกว่านี้จะนำไปสู่การลดระดับการผลิตโดยกลุ่มโอเปค ซึ่งหมายความว่าราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและดีเซลในประเทศไทยก็สามารถยืนอยู่ในระดับปัจจุบัน ซึ่งเท่ากับการลดลงจากระดับสูงสุดถึง 4.6 บาทต่อลิตรสำหรับเบนซินและ 2.8 บาทต่อลิตรสำหรับดีเซล เทียบเท่ากับการเพิ่มกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจไทยในระดับ 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวข้างต้นประกอบกับเสถียรภาพทางการเมือง การฟื้นตัวของความความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะเป็นปัจจัยบวกต่อการบริโภคและการลงทุนในประเทศ แต่หากจะให้การลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัวอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงมากกว่าสภาพแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจมหภาค ในบทความเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผมได้ตั้งข้อสังเกตว่าในช่วงสองปีที่ผ่านมาการลงทุนภาคเอกชนในประเทศไทยชะลอลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องทั้งๆที่อัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง และการชะลอลงนี้ไม่สามารถอธิบายได้จากการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจในระดับมหภาค แต่อาจมาจากปัจจัยอื่น เช่น การแข่งขันบนพื้นฐานที่ไม่เท่าเทียมกันหรือนโยบายที่ให้สิทธิแก่ธุรกิจบางกลุ่มเป็นต้นซึ่งเป็นตัวบั่นทอนความเข้มแข็งของธุรกิจและภาคเอกชนไทยในระยะยาว และหากการลงทุนในประเทศไม่ฟื้นตัวแล้วเศรษฐกิจไทยจะไม่สามารถขยายตัวได้อย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2549 ธนาคารโลกได้เผยแพร่รายงาน “A Decade of Measuring the Quality of Governance” ซึ่งพยายามที่จะวัดและวิเคราะห์ระดับธรรมาภิบาลใน 221 ประเทศทั่วโลกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยแยกตัวชี้วัดเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่สิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชน เสถียรภาพทางการเมือง คุณภาพของบริการภาครัฐและระบบราชการ คุณภาพของการกำหนดนโยบายที่ส่งเสริมภาคเอกชน คุณภาพของการบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และการควบคุมการทุจริต ผลการศึกษาพบว่าพบว่าระดับธรรมาภิบาลมีความสัมพันธ์โดยตรงกับรายได้ประชาชาติ และในกรณีของประเทศไทยนั้นระดับธรรมาภิบาลลดลงอย่างชัดเจนในตัวชี้วัด 4 ตัวจาก 6 ตัวในช่วง 5 ปีของรัฐบาลที่แล้ว

ดังนั้นหากรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์สามารถสร้างความปรองดองและความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในประเทศ ขจัดการทุจริตและมิชอบในวงราชการ สร้างการแข่งขันที่เท่าเทียมกันระหว่างธุรกิจต่างๆ สร้างกติกาและกฎเกณฑ์ที่โปร่งใสและเป็นธรรมแก่ทั้งผู้ประกอบการและผู้ลงทุน การลงทุนภาคเอกชนน่าจะฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2550 สูงกว่าในปีนี้

Copyright © 2011 Energy For Environment Foundation. All right reserved.
812/66 ซอยประชาชื่น 26 ถนนประชาชื่น แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800
โทรศัพท์ +66 2115 5895  E-mail : jutamas.efe@gmail.com