มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม มพส

ข่าวสารและกิจกรรม

ข่าวทั่วไป

บทความ

บทความ

อยากเห็นอะไรจากรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง
โดย ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ (ประธานที่ปรึกษา มพส.)

ภายในสิ้นปีนี้ เราคงได้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่อุปสรรคยังมีอีกมากและยังไม่ชัดเจนว่าปัญหาทางการเมืองจะคลี่คลายเพียงพอที่จะทำให้เราได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพหรือไม่ วิธีการและกระบวนการที่ได้มาซึ่งรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 15 ตุลาคม 2549 นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง รวมทั้งลักษณะและรูปแบบของรัฐบาล สิ่งที่ผมอยากจะเห็นจากรัฐบาลหลังการเลือกตั้งนั้นมีทั้งหมด 4 ข้อด้วยกัน

ข้อแรก เป็นข้อที่สำคัญที่สุดคือรัฐบาลใหม่ต้องสามารถสร้างความปรองดองสมานฉันท์และขจัดความแตกแยกในประเทศให้ได้
เพราะในขณะนี้สังคมไทยมีความแตกแยกกันมากเหลือเกิน ทั้งในประเด็นปัญหาการเมืองโดยรวมและความขัดแย้งในภาคใต้ รัฐบาลที่ได้รับเสียงข้างมากแต่ไม่สามารถทำให้ประชาชนส่วนน้อยกลุ่มใหญ่ยอมรับได้ก็ไม่สามารถปกครองประเทศได้อย่างราบรื่น และจะไม่สามารถผลักดันนโยบายเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญๆ ได้ การปกครองประเทศไม่เหมือนการบริหารบริษัท ถ้ากรรมการผู้จัดการของบริษัทได้รับการยอมรับโดยพนักงานในบริษัทกว่าครึ่งหนึ่ง แต่พนักงานอีกเพียง 30% ไม่ยอมให้ความร่วมมือด้วย การประกอบกิจการของบริษัทก็จะมีปัญหา ซึ่งกรรมการผู้จัดการอาจต้องลาออก หรือไล่พนักงานที่ไม่ให้ความร่วมมือออก ในกรณีของการบริหารประเทศคงไม่สามารถใช้ทางเลือกที่สองได้

ข้อสอง รัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศต้องดำเนินการอย่างจริงจังกับการปราบปราบการทุจริตและประพฤตมิชอบ
ซึ่งรวมถึงการทุจริตเชิงนโยบาย แก้ไขปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และการเล่นพรรคเล่นพวก เพราะการทุจริตนั้นกลายเป็นต้นทุนสำคัญของการประกอบธุรกิจ และเป็นมะเร็งร้ายที่กัดกินรากฐานทางเศรษฐกิจและสังคมของไทย ผมอยากจะเห็นพรรคการเมืองที่มีนโยบายในเรื่องนี้ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม ซึ่งควรรวมถึงมาตรการในการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนไทยต่อการทุจริต ความคิดที่ว่าแม้โกงเล็กน้อยแต่ทำงานด้วยเป็นแนวที่ผมไม่สามารถรับได้

ข้อสาม รัฐบาลใหม่ต้องดำเนินการปฏิรูปทางการเมืองโดยเร็ว
โดยให้ประชาชนมีส่วนจริงๆ การปฏิรูปทางการเมืองไม่ได้หมายถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้นในหลายๆประเด็นที่มีการพูดกันเช่นการมีระบบตรวจสอบที่มีความเข้มแข็ง แต่ต้องรวมถึงองค์ประกอบอื่นๆที่จะทำให้การปกครองประเทศเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญด้วย โดยเฉพาะการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดิน เช่นความเป็นอิสระของหน่วยงานจัดเก็บภาษีหรือหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวพันกับผลประโยชน์สาธารณะ และความเป็นกลางและอิสระของสื่อมวลชน เช่นการปฏิรูปกรมประชาสัมพันธ์เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้ตามเจตนารมณ์ของมาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย

ข้อสี่ รัฐบาลใหม่ต้องเข้ามาฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเร็ว โดยเน้นมาตรการที่ทำได้ทันที
มาตรการระยะยาวมีความสำคัญน้อยกว่าเพราะเป็นเพียงรัฐบาลชั่วคราวที่เข้ามาเพื่อปฏิรูปทางการเมืองแต่ก็จำเป็นต้องวางรากฐานสำหรับการเปลี่ยนแปลงในระยะต่อไป คล้ายๆกับที่รัฐบาลท่านนายกอานันท์ฯได้เคยทำมาแล้วในช่วงปี 2533-34 การใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินที่บ่นกันมากว่าชะลอลงและเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจนั้น ที่จริงแล้วเป็นส่วนน้อยเพราะงบประมาณส่วนใหญ่สามารถใช้จ่ายได้ต่อไปตามปรกติเช่นเงินเดือนข้าราชการ แต่สิ่งที่เป็นตัวฉุดเศรษฐกิจมากกว่าคือการใช้จ่ายภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการที่เราไม่มีสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบงบประมาณแผ่นดิน การเร่งโครงการลงทุนสำคัญๆนั้นทำได้ทันที หากมีวิธีการที่โปร่งใส เป็นธรรม ประชาชนไว้ใจเท่านั้นเอง เพราะรายละเอียดต่างๆมีอยู่แล้วทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องถนน ระบบขนส่งมวลชน หรือการขยายกำลังการผลิตฟ้าเป็นต้น เช่นเดียวกับมาตรการหลายด้านในการสร้างการแข่งขันในธุรกิจบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน การทดแทนน้ำมันและการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่มีความเหมาะสมสำหรับประเทศไทย การแปรรูปรัฐวิสาหกิจในบางลักษณะที่ไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนการผูกขาดภาครัฐไปเป็นเอกชนโดยไม่มีองค์กรกำกับดูแล หรือการส่งเสริมการออมระยะยาวเพื่อการเกษียณอายุเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ล้วนเป็นมาตรการที่สามารถดำเนินการได้เร็วคู่ขนานไปกับการปฏิรูปทางการเมือง ส่วนมาตรการระยะยาว นั้นรัฐบาลควรใช้ช่วงเวลานี้ในการเตรียมการและจัดทำรายละเอียดให้เป็นที่ยอมรับในสังคมแล้วค่อยดำเนินการเมื่อมีการปฏิรูปทางการเมืองเสร็จแล้ว เช่นการออกกฎหมายเกี่ยวกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นต้น

สำหรับในชั้นนี้ก็ได้แต่หวังว่าการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะเป็นไปอย่างราบรื่น และเราจะได้รัฐบาลหลังการเลือกตั้งที่ผมวาดฝันเอาไว้

Copyright © 2011 Energy For Environment Foundation. All right reserved.
812/66 ซอยประชาชื่น 26 ถนนประชาชื่น แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800
โทรศัพท์ +66 2115 5895  E-mail : jutamas.efe@gmail.com