มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม มพส

ข่าวสารและกิจกรรม

ข่าวทั่วไป

บทความ

บทความ

สถานีโทรทัศน์ของ "ประชาชน" (ตอน 2)
โดย ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ (ประธานที่ปรึกษา มพส.)

หลังจากที่เขียนบทความเรื่องสถานีโทรทัศน์ของ “ประชาชน” เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว ก็ได้รับทราบว่าในขั้นนี้ “ภาคประชาชน” ต้องการเพียงสร้างกระแสในการเรียกร้องไอทีวีคืนมาเป็นทีวีเสรีตามเจตนารมณ์เดิม โดยยังไม่ต้องการลงรายละเอียดว่าจะทำอย่างไร อย่างไรก็ตามผมเกรงว่าการสร้างกระแสเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีการนำเสนอวิธีการที่สามารถปฏิบัติได้อาจนำไปสู่ความล้มเหลวอีกครั้ง เพราะกระแสนั้นสร้างขึ้นได้ก็หายไปได้เช่นกันโดยเฉพาะถ้าขั้นตอนการดำเนินการติดขัดในแง่กฎหมายทำให้ยืดเยื้อและในที่สุดประชาชนก็หมดความสนใจ หรืออาจทำให้เราได้ไอทีวี 2 ซึ่งในภายหลังก็อาจถูกครอบงำโดยกลุ่มผลประโยชน์อีกครั้งเหมือนกับที่เกิดขึ้นกับไอทีวีมาแล้ว

ดังนั้นการเรียกร้องให้ดึงไอทีวีกลับมาเป็นของประชาชนหรือการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ที่เป็นของประชาชน ควรต้องมีรายละเอียดและวิธีการดำเนินการที่สามารถปฏิบัติได้ภายใต้ข้อจำกัดทางด้านการเงิน สังคม และกฎหมาย ความล้มเหลวของไอทีวีในการเป็นสถานีโทรทัศน์ที่เป็นอิสระนั้นถูกกำหนดมาตั้งแต่วันที่มีการลงนามในสัญญาระหว่างไอทีวีกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2538 ที่กำหนดเงื่อนไขสำคัญสามประการซึ่งมีความขัดแย้งกันเอง เรื่องแรกได้แก่การมีข้อกำหนดเกี่ยวกับผังรายการซึ่งทำให้ไอทีวีมีข้อจำกัดในการหารายได้จากการขายเวลาหรือการโฆษณา เรื่องที่สองได้แก่การกำหนดให้ไอทีวีต้องจ่ายเงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษแก่รัฐ 22.5%-44% ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายและค่าภาษีใดๆทั้งสิ้น แต่ทั้งนี้ต้องไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันล้านบาทต่อปีตั้งแต่ปีที่ 10 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าสถานีโทรทัศน์อื่น และเรื่องที่สามคือเงื่อนไขให้มีการกระจายหุ้นไอทีวีในตลาดหลักทรัพย์ภายในประมาณ 7 ปีหลังการลงนามในสัญญา ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว แม้ว่าไม่มีข้อจำกัดเรื่องผังรายการ การประกอบธุรกิจของไอทีวีก็ยากกว่าสถานีอื่นอยู่แล้ว

ผมคิดว่าข้อพิพาทเรื่องไอทีวีคงยืดเยื้อ เพราะยังมีข้อกฎหมายที่ไอทีวีหรือผู้ถือหุ้นอาจนำมาต่อสู้ได้ แม้แต่เรื่องมูลค่าของค่าปรับก็ยังถกเถียงกันได้อีกนาน ซึ่งตามสัญญาข้อ 11 วรรค 2 ผมคิดว่าค่าปรับเรื่องผังรายการน่าจะอยู่ในระดับ 208 ล้านบาทตามที่ไอทีวียืนยันมากกว่าตัวเลข 75,960 ล้านบาทของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี แต่สมมุติว่าสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีชนะ ไอทีวีต้องจ่ายค่าปรับกว่าเจ็ดหมื่นล้านบาท บริษัทไอทีวีก็จะล้มละลาย ความเสียหายของผู้ถือหุ้นก็คือมูลค่าหุ้นในปัจจุบันในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งก็คือประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยเป็นส่วนของเทมาเซค 2,100 ล้านบาทหรือ 1.5% ของเงินลงทุนในบริษัทชินฯเท่านั้น สมมุติว่ารัฐบาลยกสถานีไอทีวีให้ “ภาคประชาชน” รับไปดำเนินการภายใต้สัญญาเดิม ผมยังมองไม่ออกว่าจะสามารถดำเนินกิจการได้อย่างไรโดยไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐเพราะผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษอย่างต่ำปีละหนึ่งพันล้านบาทนั้นเป็นเงินจำนวนไม่น้อย

การกำหนดให้มีสถานีโทรทัศน์ที่เป็นของ “ประชาชน” และกำหนดให้มีการกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้นโดยผิวเผินก็ดูดี แต่ข้อเท็จจริงก็คือเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เข้ามาซื้อกิจการ ดังมีตัวอย่างในต่างประเทศ และในกรณีของประเทศไทยก็มีความพยายามที่จะเข้ามาซื้อหุ้นเพื่อครอบงำกิจการทั้งหนังสือพิมพ์เนชั่น มติชนและบางกอกโพสต์ ถ้าต้องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนในกิจการสื่อที่ให้บริการสาธารณะหรือเป็นกลาง อาจต้องกำหนดรูปแบบการกระจายหุ้นเสียใหม่ เช่นผ่านกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นเป็นพิเศษและลงทุนเฉพาะในหุ้นของสื่อต่างๆ เงื่อนไขของกลต.เกี่ยวกับการตั้งกองทุนรวมจะทำให้ผู้ถือหน่วยไม่มีสิทธิมีเสียงเกี่ยวกับการบริหารงานของธุรกิจที่กองทุนรวมเข้าไปถือหุ้น กองทุนรวมสื่อสามารถลงทุนได้ในหุ้นของเนชั่น มติชน บางกอกโพสต์และไอทีวี แต่ทั้งนี้ผู้ที่ต้องการสื่อที่เป็นกลางและอิสระคงต้องช่วยกันสร้างกระแสให้ประชาชนมาซื้อหน่วยลงทุน โดยถือว่าเป็นการลงทุนระยะยาว อย่าหวังผลตอบแทนมาก แต่ลงทุนเพื่อรักษาสื่อสำคัญๆที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ให้มีความเป็นอิสระต่อไป เพราะถ้าจะลงทุนให้ได้ผลตอบแทนดี เอาเงินไปซื้อหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงอาจจะดีกว่า

ถ้าไม่ต้องการรูปแบบที่สถานีโทรทัศน์เป็นธุรกิจเอกชน ก็คงต้องเลือกรูปแบบของบีบีซี ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีการออกกฎหมายเพื่อกำหนดให้สถานีโทรทัศน์ดังกล่าวมีความเป็นอิสระ ต้องจัดรายการที่ให้ความรู้และสาระประโยชน์ที่มีคุณภาพสูง และมีแหล่งรายได้ที่ไม่ต้องพึ่งงบประมาณแผ่นดินหรือรายได้จากการโฆษณาแต่เป็นที่ยอมรับของประชาชน

Copyright © 2011 Energy For Environment Foundation. All right reserved.
812/66 ซอยประชาชื่น 26 ถนนประชาชื่น แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800
โทรศัพท์ +66 2115 5895  E-mail : jutamas.efe@gmail.com