มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม มพส

ข่าวสารและกิจกรรม

ข่าวทั่วไป

บทความ

บทความ

สถานีโทรทัศน์ของ "ประชาชน"
โดย ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ (ประธานที่ปรึกษา มพส.)

วิกฤตการณ์ทางการเมืองหลายครั้งแสดงให้เห็นว่าการมีสถานีโทรทัศน์ที่เป็นฟรีทีวีซึ่งมีความเป็นอิสระในการนำเสนอข่าวสารที่เป็นกลางนั้น เป็นสิ่งจำเป็น แต่การเรียกร้องให้มีการนำไอทีวีกลับคืนมาเป็นของ "ประชาชน" เช่นให้รัฐซื้อไอทีวีคืนมาเป็นของรัฐทั้งหมดและจัดรูปแบบให้เป็นเหมือนบีบีซีในประเทศอังกฤษ อาจไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุดด้วยเหตุผลดังนี้

ประการแรก โลกในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปมาก เทคโนโลยีสื่อสารและโทรคมนาคมที่พัฒนาไปมากทำให้ประชาชนมีช่องทางและรูปแบบต่างๆในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะระบบอินเตอร์เน็ท โทรทัศน์ระบบ Digital และต้นทุนในการรับโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิกที่ลดลงเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้จากบทบาทของอินเตอร์เน็ทและ ASTV ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่าน ดังนั้นความจำเป็นที่จะมีสถานีโทรทัศน์ที่เป็นของ "ประชาชน" จึงลดลง แต่ทั้งนี้ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีทางเลือกอย่างแท้จริงในการรับข้อมูลข่าวสารจากสื่อและเทคโนโลยีต่างๆ

ประการที่สอง บีบีซีมีความเป็นกลาง และสามารถจัดรายการที่ให้ความรู้และสาระประโยชน์ที่มีคุณภาพสูงได้จากการที่เป็นบรรษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ซึ่งรับประกันความเป็นอิสระของบีบีซี และมีรายได้หลักจากการเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ที่มีโทรทัศน์ในประเทศอังกฤษ จึงไม่ต้องพึ่งงบประมาณแผ่นดินและไม่ต้องพึ่งรายได้จากการโฆษณา อย่างไรก็ตามค่าธรรมเนียมโทรทัศน์เป็นภาระที่มากพอสมควรต่อประชาชน คือ 126.5 ปอนด์ต่อปี (8,855 บาท) สำหรับโทรทัศน์สี ทำให้บีบีซีมีรายได้จากค่าธรรมเนียม 2,940 ล้านปอนด์ในปี 2548 (205,800 ล้านบาท) หากเราจะใช้วิธีเดียวกันในประเทศไทยแล้ว ผู้รับชมโทรทัศน์คงไม่พอใจเท่าใด อีกทั้งระบบการจัดเก็บจะยุ่งยากและมีโอกาสรั่วไหลได้ง่าย โดยจุดเริ่มต้นคือการลงทะเบียนโทรทัศน์ทั้งหมดที่มีในประเทศไทย ซึ่งน่าจะอยู่ในระดับ 15 ล้านเครื่อง ผมยังนึกไม่ออกว่าจะทำได้อย่างไรให้มีต้นทุนต่ำและมีประสิทธิภาพ

ประการที่สาม ประเทศไทยมีกรมประชาสัมพันธ์ซึ่งบริหารสถานีวิทยุแห่งประเทศไทยและสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ผมไม่เห็นความจำเป็นที่จะมีทั้งช่อง 11 ที่เป็นของ "รัฐบาล" และไอทีวีที่เป็นของ "ประชาชน" ดังนั้นอีกทางเลือกคือการเปลี่ยนช่อง 11 และวิทยุแห่งประเทศไทยเป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์ของ "ประชาชน" โดยในขั้นแรกเปลี่ยนเป็นองค์การมหาชนและเมื่อมีสภาผู้แทนราษฎรแล้วให้ออกกฎหมายการจัดตั้งเพื่อรักษาความเป็นอิสระได้อย่างแท้จริง ส่วนไอทีวีนั้น ให้เป็นสถานีโทรทัศน์เอกชนต่อไป โดยรัฐเจรจาสัญญากับไอทีวีเสียใหม่ เช่นยังคงให้ไอทีวีจ่ายเงินผลประโยชน์ตอบแทนต่อไปตามสัญญาแต่ปรับเงื่อนไขเกี่ยวกับผังรายการเพื่อให้สถานีสามารถประกอบกิจการได้ในเชิงพาณิชย์และปรับโครงสร้างการถือหุ้นเสียใหม่ให้เป็นที่ยอมรับของสังคม แทนที่จะซื้อคืนมาเป็นของรัฐซึ่งตามราคาหุ้นในปัจจุบันจะต้องใช้เงินประมาณ 3,300 ล้านบาท ทั้งนี้เงินผลประโยชน์ตอบแทนจากไอทีวี ซึ่งในปี 2549 น่าจะอยู่ในระดับ 1,000 ล้านบาทนั้น ให้กำหนดเป็นรายได้ของช่อง 11 (ใหม่) ซึ่งจะทำให้ช่อง 11 และวิทยุแห่งประเทศไทยมีความเป็นอิสระจากภาครัฐและธุรกิจต่างๆ รวมทั้งสามารถปรับปรุงคุณภาพของรายการได้อย่างมาก เพราะในปัจจุบันกรมประชาสัมพันธ์ทั้งกรมได้รับงบประมาณเพียงปีละ 1,200 ล้านบาท (โดยมีรายได้อื่นเข้ามาช่วยเสริมจำนวนหนึ่งเช่นค่าโฆษณาหรือการให้เช่าคลื่นวิทยุ)

ประการที่สี่ ผมไม่มั่นใจว่าคดีระหว่างสำนักนายกรัฐมนตรีกับไอทีวีจะจบลงในเร็วๆนี้ แม้ว่าศาลปกครองสูงสุดจะยืนคำพิพากษาของศาลปกครองกลางก็ตามเพราะเหตุผลหนึ่งที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีชนะคดีก็คือข้อ 5 วรรคสี่ของสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ ซึ่งเป็นข้อที่เปิดช่องให้ไอทีวีขอทบทวนค่าผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษนั้น ได้มีการเพิ่มเติมในภายหลังและสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีไม่ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบอีกครั้ง ทำให้ข้อความดังกล่าวไม่มีผลผูกพันคู่สัญญา ดังนั้นจึงมีโอกาสสูงที่ไอทีวีอาจฟ้องกลับได้เพราะผู้ประกอบการไม่สามารถทราบได้ว่ากระบวนการในการขออนุมัติสัญญาของทางราชการนั้นไม่ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย

การมีสถานีโทรทัศน์ของ "ประชาชน" นั้นเป็นสิ่งจำเป็น แต่การดึงไอทีวีกลับคืนมาอาจไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุด การเปลี่ยนช่อง 11 และวิทยุแห่งประเทศไทยเป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์ของ "ประชาชน" น่าจะเป็นวิธีที่ง่ายกว่า

Copyright © 2011 Energy For Environment Foundation. All right reserved.
812/66 ซอยประชาชื่น 26 ถนนประชาชื่น แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800
โทรศัพท์ +66 2115 5895  E-mail : jutamas.efe@gmail.com