มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม มพส

ข่าวสารและกิจกรรม

ข่าวทั่วไป

บทความ

บทความ

ตลาดหุ้น : ลงชั่วคราวหรือจุดเริ่มต้นของตลาดขาลง
โดย ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ (ประธานที่ปรึกษา มพส.)

ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา สภาพและบรรยากาศการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิงจากหน้ามือเป็นหลังมือ โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยลดลงประมาณ 15% ในช่วงเวลาดังกล่าว มีการวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ลดลงกันหลากหลาย เช่นการชะลอลงของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ความวิตกกังวลเรื่องภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐอเมริกา การออกหุ้นใหม่จำนวนมากโดยเฉพาะในประเทศจีน และการถอนเงินลงทุนจากกองทุนหุ้นที่ลงทุนในตลาดเกิดใหม่เป็นต้น

หากเรามองย้อนไปแล้วจะพบว่าในช่วงก่อนเดือนพฤษภาคม 2549 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในตลาดต่างๆเกือบทุกประเทศทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ปี 2548 ถือเป็นปีทองของผู้ลงทุนในตลาดญี่ปุ่น เกาหลีและอินเดีย ซึ่งราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 40.2%, 54.0% และ 42.3% ตามลำดับ โดยตลาดอินเดียเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 34% จากปลายปี 2548 ถึงจุดสูงสุดในปีนี้ ตลาดในบางประเทศเริ่มเกิดภาวะฟองสบู่คือราคาหุ้นสูงเกินปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งเริ่มต้นจากตลาดในตะวันออกกลางในช่วงต้นปีนี้ก่อนที่จะขยายมาสู่ตลาดอื่นๆ แม้ว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกลดลงมากในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาและผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีเริ่มติดลบสำหรับหลายตลาด แต่ผลตอบแทนตั้งแต่ปลายปี 2547 ยังเป็นบวกสำหรับตลาดส่วนใหญ่ เช่นราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 28.2%, 37.9%, 24.6%, 23.8% และ 48.0% ในตลาดญี่ปุ่น เกาหลี อินโดนีเซีย จีนและอินเดียตามลำดับ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดประเทศหนึ่งของโลกคือดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยในปัจจุบันอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเมื่อปลายปี 2547

ราคาหุ้นในตลาดเกิดใหม่และเอเซียที่เพิ่มขึ้นมากนี้เป็นผลจากการขยายตัวของการลงทุนในกองทุนหุ้นที่เน้นตลาดเกิดใหม่และเอเซีย ดังจะเห็นได้ว่าในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ผู้ลงทุนต่างชาติเป็นผู้ซื้อสุทธิในตลาดไทย ไต้หวัน เกาหลี อินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ถึง 18,713 ล้านเหรียญสหรัฐ (720,000 ล้านบาท) เทียบกับมูลค่าการซื้อสุทธิปีละ 23,960 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงปี 2545-48 แม้ว่าผู้ลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายสุทธิ 7,020 ล้านเหรียญสหรัฐในเดือนพฤษภาคม 2549 แต่นักผู้ลงทุนต่างชาติยังเป็นผู้ซื้อสุทธิกว่า 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐแต่ต้นปี ซึ่งหมายความว่าตลาดเกิดใหม่ยังมีความเสี่ยงที่จะมีการถอนเงินลงทุนต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากเรากลับมาพิจารณาปัจจัยพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจของโลกและของไทยแล้วแล้ว จะพบว่าในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาไม่ได้มีข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจที่ทำให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงเท่าใด ยกเว้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอเมริกาที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นเป็น 5.25-5.50% อัตราเงินเฟ้อของไทยที่สูงกว่าที่คาดและคงยังไม่ลดลงจนครึ่งหลังของปี 2549 แต่การชะลอลงของเศรษฐกิจโลกและไทยนั้นเป็นไปตามคาด ราคาน้ำมันมีความผันผวนสูงตามคาดและก็ยังไม่ได้เพิ่มเป็น 80 เหรียญสหรัฐต่อบาเรลตามที่นักวิเคราะห์บางคนคาดการณ์ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยยังมีความไม่แน่นอนสูงแต่โดยทั่วไปผมคิดว่ามีความชัดเจนกว่าเมื่อสองเดือนก่อน

อย่างไรก็ตามจุดแข็งของเศรษฐกิจไทยในบางเรื่องเริ่มชัดเจนขึ้น เรื่องแรกคือภาคการผลิตในบางสาขาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญคือภาคการเกษตรและการท่องเที่ยว รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทำให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นถึง 35% ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เรื่องที่สองคือดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งหากการส่งออกและการนำเข้ายังขยายตัวในอัตราใกล้เคียงกับในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ประเทศไทยจะมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลในระดับสูงในปี 2549 เรื่องที่สาม คืออัตราดอกเบี้ยในประเทศน่าจะถึงหรือใกล้จุดสูงสุดแล้วและถือเป็นประเทศแรกในเอเชียที่อัตราดอกเบี้ยเริ่มทรงตัว เรื่องที่สี่คือการที่ราคาหุ้นไทยลดลงตามราคาหุ้นในต่างประเทศจึงทำให้ตลาดหลักทรัพย์ไทยยังคงมีราคาค่อนข้าง “ต่ำ” ซึ่งหากมีความชัดเจนเรื่องการเมืองในประเทศ ผมคิดว่านักลงทุนจะเริ่มให้ความสนใจกับตลาดไทยอีกครั้ง

สาเหตุที่ราคาหุ้นลดลงคงมีหลายประการดังที่กล่าวไปแล้ว รวมทั้งการที่ราคาหุ้นในหลายประเทศเพิ่มขึ้นมากและเร็วเกินไป แต่พิจารณาจากปัจจัยพื้นฐาน การลดลงของราคาหุ้นน่าจะเป็นเหตุการณ์ชั่วคราว และความเสี่ยงของตลาดไทยน่าจะน้อยกว่าตลาดเกิดใหม่อื่นๆ อย่างไรก็ตามการคาดการณ์จุดต่ำสุดของดัชนีตลาดหลักทรัพย์เป็นเรื่องที่ยาก ในช่วงสั้นราคาหุ้นคงยังผันผวน แต่หากเป็นการลงทุนระยะยาวแล้ว อาจเป็นจังหวะที่ดีที่จะพิจารณาซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพหรือกองทุนรวมหุ้นระยะยาว

Copyright © 2011 Energy For Environment Foundation. All right reserved.
812/66 ซอยประชาชื่น 26 ถนนประชาชื่น แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800
โทรศัพท์ +66 2115 5895  E-mail : jutamas.efe@gmail.com