มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม มพส

ข่าวสารและกิจกรรม

ข่าวทั่วไป

บทความ

บทความ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญและการปฏิรูประบบราชการ
โดย ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ (ประธานที่ปรึกษา มพส.)

ปัญหาหลายเรื่องในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเกิดจากการที่ไม่มีการแยกบทบาทให้ชัดเจนระหว่างการกำหนดนโยบาย การกำกับดูแล ความเป็นเจ้าของและการปฏิบัติการ ทำให้บุคลากรของรัฐมีความสับสนในภาระกิจและอำนาจหน้าที่ของตน รวมทั้งเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน การปรับปรุงระบบการบริหารราชการในปี 2545 ไม่ได้คำนึงถึงหลักการสำคัญในการบริหารราชการดังที่กล่าวมาแล้ว จึงทำให้ปัญหายิ่งแย่ลง โดยการแทรกแซงในการปฏิบัติงานโดยผู้กำหนดนโยบายได้ก้าวลึกลงสู่หน่วยงานระดับกรมหลายแห่งที่มีขอบเขตความรับผิดชอบค่อนข้างชัดเจนตามกฎหมาย

จุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาคือต้องจัดโครงสร้างการบริหารราชการให้มีการแยกบทบาทของรัฐทางด้านต่างๆให้ชัดเจน โดยหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลและหน่วยงานที่จำเป็นต้องมีความเป็นกลางต้องมีความเป็นอิสระในการปฏิบัติงานภายใต้ขอบเขตของอำนาจหน้าที่ที่มีความชัดเจนและเพียงพอตามที่กฎหมายระบุ หน่วยงานเหล่านี้มิได้จำกัดอยู่ที่คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า หรือคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เท่านั้น แต่ควรรวมไปถึงหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีเช่นกรมสรรพากร หรือหน่วยงานที่ต้องมีความเป็นอิสระในการปฏิบัติงานเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

จากเหตุการณ์ในอดีต ใครก็ตามที่เป็นรัฐบาลมักไม่อยากให้มีการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลอิสระ ดังนั้นตั้งแต่ที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฯฉบับปัจจุบันในปี 2540 จึงมีเพียงกทช.ที่จัดตั้งเรียบร้อยแล้ว และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ที่อยู่ระหว่างการจัดตั้ง ทั้งนี้เพราะมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญฯระบุว่าคลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และวิทยุโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ และกำหนดให้มีการจัดตั้งองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระเพื่อทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับดูแล ส่วนองค์กรกำกับดูแลในสาขาอื่น เช่นพลังงาน หรือน้ำไม่มีการะบุไว้ในรัฐธรรมนูญฯ จึงยังไม่มีการจัดตั้งแม้แต่องค์กรเดียว

นอกจากนั้นการปฏิบัติงานของบางหน่วยงานให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฯทำได้ยากมากหากไม่มีการปรับโครงสร้างการบริหารงาน กรณีที่เห็นชัดที่สุดคือกรมประชาสัมพันธ์ซึ่งในปัจจุบันทำหน้าที่สามด้านหลักๆพร้อมกัน ด้านแรกคือเป็นหน่วยงานที่ทำการประชาสัมพันธ์ให้แก่รัฐ ด้านที่สองคือการดำเนินงานสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยและสถานีโทรทัศฯช่อง 11 และด้านที่สามคือการกำกับดูแลกิจการวิทยุและโทรทัศน์ เมื่อมีการจัดตั้งกสช.เรียบร้อยแล้ว งานด้านที่สามจะย้ายไปกสช. คงเหลือเฉพาะสองด้านแรก โดยงานประชาสัมพันธ์นั้นต้องทำงานใกล้ชิดกับรัฐ จึงไม่มีความจำเป็นต้องมีความเป็นอิสระ แต่การดำเนินงานสถานีวิทยุและโทรทัศน์นั้นจำเป็นต้องมีความเป็นอิสระ ทั้งนี้เพราะมาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญระบุว่า

"พนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าของกิจการนั้น แต่ต้องไม่ขัดต่อจรรยาบรรณแห่งการประกอบวิชาชีพ ข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ในกิจการวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ ย่อมมีเสรีภาพเช่นเดียวกับพนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนตามวรรคหนึ่ง"

ตราบใดที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยและสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ยังเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานระดับกรมในลักษณะปัจจุบัน ผมคิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่ข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์จะปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับมาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย

ในเมื่อจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอีกครั้ง น่าถือโอกาสนี้ในการเขียนบทบัญญัติที่ชัดเจนให้มีการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลอิสระเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการที่เป็นสาธารณูปโภคหรือมีลักษณะการผูกขาดโดยธรรมชาติ รวมทั้งให้มีการปรับโครงสร้างหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดเก็บภาษีให้มีความเป็นอิสระ และหากยังต้องการให้มีมาตรา 41 วรรคสอง ในรัฐธรรมนูญฯ ก็น่าจะต้องเพิ่มบทบัญญัติให้มีการปฏิรูปกรมประชาสัมพันธ์ให้ชัดเจนด้วย

Copyright © 2011 Energy For Environment Foundation. All right reserved.
812/66 ซอยประชาชื่น 26 ถนนประชาชื่น แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800
โทรศัพท์ +66 2115 5895  E-mail : jutamas.efe@gmail.com