มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม มพส

ข่าวสารและกิจกรรม

ข่าวทั่วไป

บทความ

บทความ

ทำเอง ทำจริง ราคาประหยัด โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน ของนายกวี จงคงคาวุฒิ Download PDF
สถิติหน่วยไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านคุณกวี View
รับปรึกษาและดำเนินการแบบครบวงจร ในราคาประหยัดสุดๆ ติดต่อได้ที่ นายกวี  จงคงคาวุฒิ โทร. 02-953-9881-4 ต่อ 143



ความในใจ
      ผมทำงานในแวดวงพลังงานมาตั้งแต่ปี 2521 ได้ติดตามดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์มาร่วม 30 ปีจนถึงปัจจุบัน ได้รู้จักคนในวงการไฟฟ้าดีพอสมควร ถ้าผมไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมกับชีวิตงานที่ผ่านมา เวลาที่ผ่านมาของผมจะไม่มีความหมายเลย
 
ความตั้งใจ
      ผมมีเงินไม่มาก ความรู้ทางช่างก็ไม่มี การจะสร้างแผงแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านจึงต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ทุกขั้นตอนต้องเรียนรู้และวางแผนเอง เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการในวงเงินที่จำกัด และนี่คือสิ่งที่ผมต้องการเผยแพร่ให้เห็นว่าใครๆก็ทำได้ ผมอยากเห็นบ้านเรือนในกรุงเทพฯมีแผงแสงอาทิตย์บนหลังคาเพื่อผลิตไฟฟ้ามากๆครับ

1. จุดเริ่มคิด
      บ้านผมเป็นทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น หน้ากว้างประมาณ  6 เมตร ยาวประมาณ 14 เมตร ผมอาศัยอยู่มาเกือบ 30 ปีแล้ว สภาพยังดี หน้าบ้านผมหันไปทางทิศเหนือ หลังบ้านชี้ทางทิศใต้ หลังคาบ้านส่วนใหญ่ (ประมาณ 6x9 ตารางเมตร) ลาดเอียงเล็กน้อยไปทางทิศใต้ ผมเฝ้ามองหลังคาบ้านผมมาเป็นเวลานานมาก หลังคาบ้านผมเหมาะที่จะติดตั้งแผงแสงอาทิตย์ที่สุด เพราะรับแสงแดดตลอดทั้งวันทั้งปี


2. เริ่มเป็นจริง
ช่วงปลายปี 2556 รัฐบาลได้ประกาศให้รับซื้อไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน และกำหนดแล้วเสร็จสามารถจ่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าภายในปี 2556 ด้วย ผมได้ไปยื่นขอจำหน่ายไฟฟ้ากับการไฟฟ้านครหลวงเขตธนบุรีในวันแรกที่เปิดรับซื้อไฟฟ้า โดยขอจำหน่ายไฟฟ้าจากแผงแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านขนาดกำลังผลิตสูงสุด 5 กิโลวัตต์ ใช้แผงแสงอาทิตย์ยี่ห้อ Trina ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าสูงสุดแผงละ 250 วัตต์ จำนวน 20 แผง ใช้ Inverter ยี่ห้อ ABB ขนาด 4.6 กิโลวัตต์ 1 เครื่อง แผงและอุปกรณ์มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ให้คำแนะนำ การยื่นขอจำหน่ายไฟฟ้ากับการไฟฟ้านครหลวงเขตธนบุรีในวันนั้น การไฟฟ้านครหลวงเขตธนบุรีให้บริการอย่างกันเองและไม่คำนึงถึงเวลา สังเกตได้จากวันเวลาที่ประทับรับเรื่อง เป็นวันที่ 23/09/2556 เวลา 12:51:23 น. การไฟฟ้านครหลวงเขตธนบุรีรับเรื่องผมเป็นลำดับที่ 96 เวลา 13:23:18 น. การไฟฟ้านครหลวงเขตธนบุรีก็ออกใบรับให้เป็นที่เรียบร้อย



การยื่นขอจำหน่ายไฟฟ้าในคราวนี้ ผมได้ชักชวนเพื่อนมายื่นอีก 3 ราย ได้แก่
1.   นายปรีชา หัตถพร ยื่นขอจำหน่ายไฟฟ้ากำลังสูงสุด 10 กิโลวัตต์
2.   นายเจริญ อัศวโกวิทกรณ์ ยื่นขอจำหน่ายไฟฟ้ากำลังสูงสุด 4.5 กิโลวัตต์
3.   นายปัญญา อรุณอังศุธร ยื่นขอจำหน่ายไฟฟ้ากำลังสูงสุด 10 กิโลวัตต์
     โดยทั้งหมดใช้แผงแสงอาทิตย์และ Inverter ชนิดเดียวกัน
การไฟฟ้านครหลวงได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเลขที่ PPA-Solar/R/2013-052 กับผมสัญญาซื้อขายไฟฟ้าฉบับดังกล่าวลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้านครหลวงเป็นไปอย่างราบรื่น ผมได้รับความเอื้อเฟื้อและคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่การไฟฟ้านครหลวง วัดเลียบ เป็นอย่างดี ต้องขอขอบคุณกองบริหารนโยบายเศรษฐกิจพลังงาน การไฟฟ้านครหลวงมาที่นี้ด้วย


     การได้มาซึ่งสัญญาซื้อขายไฟฟ้า มีทั้งดีใจและกังวลใจ ดีใจเพราะผมมีสิทธิ์ที่จะมีโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านผม กังวลใจเพราะใช้เงินมากและไม่เคยทำมาก่อน จะทำได้ไหมเวลาแค่ 2 เดือนเท่านั้น สิ่งแรกที่ต้องรีบทำคือสั่งซื้อแผงแสงอาทิตย์ Trina และ Inverter ABB การสั่งซื้อInverter ABB ไม่มีปัญหาเพราะมีตัวแทนจำหน่ายในประเทศ แต่การสั่งซื้อแผงแสงอาทิตย์ Trinaต้องสั่งซื้อจากประเทศจีน ไม่มีตัวแทนจำหน่าย ผมได้สั่งซื้อแผงแสงอาทิตย์ผ่านบริษัท อพอลโล่ โซลาร์ จำกัด เนื่องจาก บริษัท อพอลโล่ โซลาร์ จำกัด จะสั่งซื้อแผงแสงอาทิตย์Trinaจำนวนมาก เพื่อใช้ในโครงการติดตั้งแผงแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงานอุตสาหกรรม 4 โครงการ ผมขอพ่วงแผง Trinaขนาด 250 วัตต์ จำนวน 118 แผงไปด้วย การติดต่อกับบริษัทขายแผงที่ประเทศจีนมีความยุ่งยากเนื่องจากช่วงนั้นสินค้าขาดตลาด บริษัท อพอลโล่ โซลาร์ จำกัด ยินดีเปลี่ยนขนาดแผงแสงอาทิตย์เป็น 255 วัตต์ต่อแผง แต่แผงแสงอาทิตย์ของผมขอให้เป็น 250 วัตต์ ซึ่งทางจีนก็ยินยอม การเจรจาครั้งนั้นใช้เวลาเดือนกว่าและต้องใช้เวลาในการส่งของอีก 1 เดือน ผมจึงทำหนังสือถึงการไฟฟ้านครหลวง ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2556 ขอเลื่อนการจ่ายไฟฟ้าออกไปอีก 1 เดือน เพื่อรักษาสิทธิ์ของผมและเพื่อน

3. การดำเนินงานในปี 2557
     เวลามีมากขึ้นนิดหน่อย แต่ปัญหาการติดตั้งแผงแสงอาทิตย์มีมากกว่าที่คิด การสั่งซื้อแผงของผม ทางจีนขอเพิ่มค่าระวางและค่าประกัน เนื่องจากผมสั่งจำนวนน้อย ต้องมีใบอนุญาต รง.4 จากกรมโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งเป็นเรื่องสาหัสมากสำหรับชาวบ้าน ต้องมีใบอนุญาตดัดแปลงอาคาร(อ.1)จากสำนักงานเขต กทม.ซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยากมากเช่นกัน จากปัญหาต่างๆ ทำให้ไม่มีผู้ใดสามารถขอจำหน่ายไฟฟ้าตามวันเวลาที่รัฐกำหนด การไฟฟ้านครหลวงจึงได้มีหนังสือแจ้งให้เลื่อนการจ่ายไฟฟ้าออกไปอีก 1 เดือน ต่อมาคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หน่วยงานกำกับกิจการพลังงาน ได้มีประกาศให้คงสิทธิ์ผู้ยื่นขายไฟฟ้าออกไปโดยไม่มีกำหนด



     เวลาได้ถูกขยายออกไปโดยไม่มีกำหนด จึงสามารถค่อยๆคิดค่อยๆทำได้การติดตั้งแผงแสงอาทิตย์บนหลังตาต้องปรับแผนใหม่ เรื่องซื้อแผงแสงอาทิตย์เอาไว้ก่อน ผมเริ่มจัดการกับสิ่งที่สามารถทำเองได้ก่อน นั่นคือวางฐานเหล็กบนหลังคาเพื่อเตรียมวางแผงแสงอาทิตย์ แผงแสงอาทิตย์ที่สั่งซื้อกว้างประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 1.6 เมตร มีรูไว้ยึดแผงๆละ 4 รู ผมเตรียมวางแผงแสงอาทิตย์เป็น 4 แถวๆละ 5 แผง รวมเป็น 20 แผง ผมจะใช้เนื้อที่ติดตั้งแผงแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านประมาณ 5x6.4 ตารางเมตร ก่อนอื่นต้องสร้างทางขึ้นจากชั้นบนของบ้านเพื่อขึ้นไปบนหลังคาบ้าน ผมได้สร้างบันไดทางขึ้นอย่างมั่นคงและเจาะหลังคาส่วนหนึ่งเพื่อขึ้นบนหลังคาบ้าน หลังคาส่วนที่เจาะสามารถเปิดปิดได้ เหตุที่ทำเช่นนี้เพื่อให้สะดวกแก่ช่างที่ขึ้นไปติดตั้งแผงแสงอาทิตย์ และสามารถขึ้นไปดูแลทำความสะอาดแผงแสงอาทิตย์ ที่สำคัญผมต้องการให้ประชาชนสามารถโผล่หน้ามองดูแผงแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งได้อย่างสะดวก ผมได้วางเหล็กฉากในแนวดิ่งยึดกับโครงหลังคา 3 เส้นยาวเส้นละ 8 เมตร มีระยะ 3 เมตร ผมทำดังนี้เพื่อเตรียมวางเหล็กตัวCยาว 6 เมตรตามแนวขวาง 8 เส้นเพื่อรับกับแผง 4 แถว งานวางเหล็กฉากในแนวดิ่งยึดกับโครงหลังคาเสร็จก็เท่ากับงานก่อสร้างเสร็จไปแล้วกว่าครึ่ง


     หลังจากวางฐานเหล็กฉากบนหลังคาแล้ว ผมก็รอดูสถานการณ์และแล้วช่วงปลายเดือนมีนาคม 2557 มีข่าวดี กกพ.ให้ยกเว้นใบอนุญาต รง.4

 

     อุปสรรคที่สำคัญได้ถูกกำจัดแล้วไปหนึ่งอย่าง แต่ยังมีใบอนุญาต อ.1อยู่ที่ต้องขอ ผมเดินทางไปสำนักงานเขตบางกอกน้อยเพื่อขอใบอนุญาต อ.1 สำนักงานเขตไม่กล้าออกใบอนุญาต อ.1 เนื่องจากบ้านเกือบทุกหลังมีการแอบดัดแปลงอาคาร หากต้องการใบอนุญาต อ.1 ต้องทำให้ถูกต้องโดยรื้อสิ่งก่อสร้างที่ดัดแปลงอาคารออกไป สำนักงานเขตได้แนะนำให้ร้องเรียนขอยกเว้นใบอนุญาต อ.1เหมือนเช่นใบอนุญาต รง.4 กลางเดือนเมษายน 2557 ผมจึงได้ทำหนังสือถึงประธานกกพ.ฉบับที่ 1 ขอยกเว้นใบอนุญาต อ.1 ผมรอคำตอบจากกกพ.อยู่ระยะหนึ่ง ยังไม่มีวี่แวว ต้นเดือนมิถุนายน 2557 จึงได้ทำหนังสือไปอีก หนังสือฉบับที่ 2 เป็นเรื่องขอให้พิจารณาแนวทางการดำเนินงานติดตั้งแผงแสงอาทิตย์ฯ โดยหนังสือฉบับที่ 2 ผมได้แนบรูปถ่ายบ้านและคำขอใบอนุญาต อ.1ที่ครบถ้วนไปด้วย

 

      ระหว่างที่รอคำตอบจากกกพ. ผมเดินหน้าสั่งซื้อแผงแสงอาทิตย์ต่อ ครั้งนี้ผมเปลี่ยนขนาดกำลังแผงเป็น 255 วัตต์ซึ่งเป็นขนาดเช่นเดียวกับบริษัทอพอลโล่ฯ ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงความยุ่งยากในการขนส่งซึ่งต้องจ่ายค่าระวางและค่าประกันเพิ่มขึ้น ผมจึงต้องลดจำนวนแผงลงจาก 20 แผงเป็น 19 แผงเพื่อมิให้ผิดสัญญา เพื่อนผมอีก 3 คนก็ต้องลดด้วย ดังนั้นจำนวนแผงทั้งหมดจึงลดลงเหลือทั้งสิ้น 114 แผง แผงแสงอาทิตย์ได้มาถึงมือพวกผมเป็นที่เรียบร้อยเมื่อต้นเดือนกันยายน 2557 งานนี้ต้องขอขอบคุณบริษัท อพอลโล่ โซลาร์ จำกัด เป็นอย่างมากที่ช่วยจัดการในเรื่องนี้ กว่าจะหาช่างมาติดตั้งแผงได้เป็นกลางเดือนพฤศจิกายน 2557 แต่วันที่ช่างมาติดตั้ง ช่างใช้เวลาติดตั้งเพียงครึ่งวันเท่านั้นเนื่องจากมีฐานรองรับไว้แล้ว


     ผมกลับมาตามเรื่องใบอนุญาต อ.1จาก กกพ. ต่อสำนักงาน กกพ. แจ้งว่าได้ส่งเรื่องคำขอใบอนุญาต อ.1ของผมไปที่เขตบางกอกน้อยนานแล้ว ผมไปตามเรื่องที่สำนักงานเขตบางกอกน้อยพร้อมบันทึกสำคัญ บันทึกสำคัญนี้ผมได้มาจากสำนักงาน กกพ. บันทึกสำคัญที่ว่าจะทำให้สำนักงานเขต กทม.ทุกเขตโล่งใจในการออกหนังสือเรื่องใบอนุญาตนี้ ผมได้พบเจ้าหน้าที่เขตโยธาบางกอกน้อยกลางเดือนธันวาคม 2557 หลังจากที่เจ้าหน้าที่โยธาเห็นบันทึกนี้ เรื่องที่ค้างคาใจอยู่นานเป็นเดือนก็มีทางออก อีก 1 อาทิตย์ถัดมา สำนักงานเขตบางกอกน้อยได้มีหนังสือตอบไปยังสำนักงาน กกพ. หนังสือตอบไปสรุปได้ว่าการติดตั้งแผงแสงอาทิตย์ไม่เข้าข่ายการดัดแปลงอาคาร ผมจึงขอนำบันทึกสำคัญนี้มาแสดงไว้ที่นี้เพื่อประโยชน์กับคนที่สนใจต่อไป


4. ปีใหม่ 2558 ฟ้าใหม่
    เมื่อสำนักงาน กกพ.ได้รับหนังสือจากเขตบางกอกน้อยและข้อมูลทุกอย่างที่ต้องการแล้ว วันที่ 7 มกราคม 2558 สำนักงาน กกพ.ได้ออกหนังสือสำคัญฉบับสุดท้ายที่ผมรอคอย คือหนังสือรับแจ้งการประกอบกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาต ต้องมีหนังสือฉบับนี้การไฟฟ้านครหลวงจึงสามารถให้จ่ายไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายได้ การไฟฟ้านครหลวงเขตธนบุรีได้มาติดตั้งมิเตอร์รับซื้อไฟฟ้าเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2558 การไฟฟ้านครหลวงเขตธนบุรีติดตั้งแล้วเสร็จเมื่อเวลาประมาณ 10:30 น. ผมได้เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมากอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่นาทีนี้เป็นต้นไป เจ้าหน้าที่การไฟฟ้านครหลวงเขตธนบุรีบอกว่าผมเป็นรายที่ 8 ที่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าฯในเขตนี้ ปีใหม่ 2558 เป็นปีเริ่มต้นที่แสงอาทิตย์มีความหมายกับผมเป็นพิเศษ







     บ้านผมมีเครื่องวัดไฟฟ้า 2 เครื่อง เครื่องวัดไฟฟ้าเครื่องบนเสียสตางค์ เครื่องวัดไฟฟ้าเครื่องล่างได้สตางค์


5. บทสรุป
     ค่าใช้จ่ายการติดตั้งทั้งสิ้นประมาณ 286,049.9 บาท มาจากเงินน้องสาว 236,049.9 บาทและเงินส่วนตัวของผมประมาณ 50,000 บาท หน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ในแต่ละวันสามารถดูได้จากหน้าจอ Inverter และจากเครื่องวัดไฟฟ้า ผมขอแสดงข้อมูลหน่วยไฟฟ้าที่ได้จาก Inverterตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. จนถึงวันที่ 9 ก.พ. ดังนี้



     ขนาดกำลังแผงแสงอาทิตย์ที่ติดตั้ง 4.845 กิโลวัตต์ หากคิดเกณฑ์มาตรฐานของจำนวนชั่วโมงที่แสงอาทิตย์ส่องเต็มที่ 4 ชั่งโมงแดด ผมจะได้จำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ประมาณ 19.38 หน่วยต่อวัน หน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ที่ผ่านมาอยู่ในระดับที่น่าพอใจ สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ บทสรุปผลที่ได้ที่เป็นรูปธรรมในเรื่องนี้คือเงินค่าไฟฟ้าที่ผลิตได้จะได้รับ การไฟฟ้านครหลวงเขตธนบุรีแจ้งว่าการไฟฟ้าจะส่งเจ้าหน้าที่ไปจดหน่วยที่ผลิตได้ทุกสิ้นเดือน กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2558 การไฟฟ้ามีหนังสือมาแจ้งค่าซื้อไฟฟ้าประจำเดือนมกราคม 2558 ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่การไฟฟ้ารับซื้อจำนวน 315 หน่วยซึ่งใกล้เคียงกับค่าใน Inverter การไฟฟ้าคิดค่าซื้อไฟฟ้าหน่วยละ 6.96 บาท คิดเป็นเงินค่าซื้อไฟฟ้าจำนวน 2,192.40 บาท แต่การไฟฟ้าหักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละ 1 ผมได้รับเช็คเงินค่าไฟฟ้าประจำเดือนมกราคม 2558 (17 วัน) เป็นจำนวน 2,170.48 บาท ความภูมิใจของผมไม่ได้อยู่ที่ปริมาณเงินค่าไฟฟ้าที่ได้รับแต่ละเดือน ความภูมิใจของผมอยู่ที่เดินเข้าการไฟฟ้านครหลวงไม่ได้มาชำระค่าไฟฟ้าแต่มารับเงินค่าไฟฟ้า ความภูมิใจสูงสุดของผมคือการได้ใช้ประโยชน์จากแสงอาทิตย์ที่สาดส่องมาบนโลกอยู่ทุกวัน ความสำเร็จของผมต้องยกให้กับมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมครับ





6. ความเห็นและข้อเสนอแนะ
     1. พลังไฟฟ้าแสงอาทิตย์เป็นสิ่งที่ดี นอกจากเป็นแหล่งพลังงานที่สะอาดแล้ว ยังเป็นพลังงานที่ถูกมากในอนาคต เพราะราคาค่าไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่ผมขายให้การไฟฟ้าจะอยู่ที่ 6.96 บาทต่อหน่วยตลอด 24 ปีข้างหน้า ผมไม่แน่ใจ 24 ปีข้างหน้าค่าไฟฟ้าจะขึ้นเป็นเท่าใด แต่ถ้าเป็นโรงไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์ก็สามารถรับประกันได้ว่าประชาชนจะจ่ายค่าไฟฟ้าไม่เกิน 6.96 บาทต่อหน่วย ดังนั้นรัฐควรส่งเสริมให้มีพลังไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์มากๆตั้งแต่บัดนี้

     2. พลังไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านอยู่อาศัยซึ่งเป็นรายเล็กมากๆควรส่งเสริมให้เต็มที่ ไม่ควรปรับราคารับซื้อให้ต่ำลงตามราคาที่รับซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์รายใหญ่ เพราะต้นทุนการติดตั้งระบบแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านอยู่อาศัยสูงมากเมื่อเทียบกับรายใหญ่ ในกรณีของผมต้นทุนในส่วนค่าแรงและอุปกรณ์จะอยู่ที่ร้อยละ 36 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด และนับวันต้นทุนในส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามค่าแรงที่เพิ่มขึ้นและการไม่อยากทำเพราะทำแค่ 3-4 วันก็เสร็จ ต้องรอให้ช่างว่างจริงๆจึงจะมาทำให้ หากปรับลดราคารับซื้อลงก็จะไม่จูงใจให้บ้านอยู่อาศัยติดตั้งนอกจากใจรักจริงๆ

     3. บ้านอยู่อาศัยที่เป็นตึกแถวหลายๆรายไม่สามารถจำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังแสงอาทิตย์ เพราะการไฟฟ้าจัดให้เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดเล็กซึ่งไม่ใช่บ้านอยู่อาศัย จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ หากรัฐผ่อนปรนในเรื่องนี้ก็จะช่วยให้มีระบบผลิตไฟฟ้าบนหลังคาบ้านเพิ่มมากขึ้น

     4. บ้านอยู่อาศัยและตึกแถวที่ได้ติดตั้งระบบแสงอาทิตย์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองนับวันจะมีมากขึ้น รัฐควรเข้ามาให้ความสนใจโดยให้สิทธิ์สามารถขายไฟฟ้าได้หากติดตั้งได้เกณฑ์ที่การไฟฟ้ากำหนด สำหรับรายที่ติดตั้งไม่ได้เกณฑ์ก็ควรเข้ามาช่วยเหลือให้คำแนะนำซึ่งจะเป็นประโยชน์กับรัฐในการรวบรวมจัดเก็บข้อมูลในส่วนนี้ให้ครบถ้วนสมบูรณ์อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าและการวางแผนกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ


Copyright © 2011 Energy For Environment Foundation. All right reserved.
812/66 ซอยประชาชื่น 26 ถนนประชาชื่น แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800
โทรศัพท์ +66 2115 5895  E-mail : jutamas.efe@gmail.com