มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม มพส

ข่าวสารและกิจกรรม

ข่าวทั่วไป

บทความ

บทความ

ข้อมูล..ข้อเท็จจริง..และความถูกต้อง..การทำงานของมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม

      ท่ามกลางกระแสประเด็นที่ถกเถียงกันเรื่องการปฏิรูปพลังงาน มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็น เนื่องจากมี ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นประธานมูลนิธิ ซึ่งมีการแสดงความเห็นที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อการทำงานของมูลนิธิและ ดร.ปิยสวัสดิ์ ซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้องของมูลนิธิที่ทำงานบนความถูกต้องและทุ่มเทในการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของไทย

      มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม (มพส.) หรือ E for E เป็นองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร จัดตั้งขึ้นในปี 2543 โดยเหตุผลแรกของการจัดตั้ง คือ เพื่อบริหารโครงการการกำจัดปัญหาอุปสรรคการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลและระบบผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วมในประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก และโครงการความช่วยเหลือระหว่างประเทศแห่งประเทศเดนมาร์ก (DANIDA) ซึ่งโครงการได้กำหนดให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อบริหารโครงการ ดังนั้น สพช. จึงได้จัดตั้งมูลนิธิฯ เพื่อบริหารโครงการดังกล่าว อันเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ในการจัดตั้งได้ใช้ที่อยู่ของ สพช. และหลังจากการจัดหาสถานที่เรียบร้อย การปฏิบัติงานของมูลนิธิฯ จึงเริ่มขึ้นที่อาคารศรีอยุธยา เขตราชเทวี ซึ่งต่อมาได้ย้ายมายังถนนเทศบาลสังเคราะห์ เขตจตุจักร ทั้งนี้ โครงการความร่วมมือฯ ได้มีเงื่อนไขที่กำหนดว่า เมื่อโครงการฯ สิ้นสุดแล้ว องค์กรที่ทำหน้าที่ส่งเสริมพลังงานชีวมวล จะต้องสามารถสร้างรายได้และอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน เพื่อให้การส่งเสริมสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนและชีวมวลมีความต่อเนื่อง โดยปัจจุบันการทำงานของมูลนิธิฯ มีความเป็นอิสระ ไม่มีความเกี่ยวข้องหรือได้รับการสนับสนุนงบประมาณใดๆ จากหน่วยงานราชการ

      การทำงานของมูลนิธิฯ จะอยู่ภายใต้การกำหนดนโยบายและกำกับดูแลของคณะกรรมการมูลนิธิ ซึ่งกรรมการมูลนิธิล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนต่างๆ เช่น พลังงาน เศรษฐศาสตร์และการเงิน และการบริหารงานของคณะกรรมการมูลนิธิเป็นไปอย่างถูกต้องและโปร่งใส ปฏิบัติหน้าที่ตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี หากกรรมการท่านใดมีการดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงานราชการที่มีส่วนได้เสียกับการได้มาของงานมูลนิธิ กรรมการท่านนั้นจะไม่ร่วมการประชุมในช่วงดังกล่าว รวมถึงการลาออกจากการเป็นกรรมการมูลนิธิ เช่น ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ในช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และหนึ่งปีหลังจากนั้น อันเป็นข้อกำหนดตามกฎหมาย

      ในการรับงานของมูลนิธิฯ ทุกกรณีเป็นการนำเสนอโครงการต่อองค์กร หน่วยงาน (ทั้งในและต่างประเทศ) ตามขั้นตอนและระเบียบของหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้อย่างเปิดเผย ตลอดระยะเวลา 14 ปีที่ก่อตั้งมา มูลนิธิฯ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์และเป็นที่ยอมรับของผู้ว่าจ้างทุกราย อาทิเช่น องค์กรสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ธนาคารโลก (World Bank) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน (การประเมินความเหมาะสมของการลงทุนด้านพลังงาน) มูลนิธิฯ มีการรายงานผลการดำเนินการและการตรวจสอบทางบัญชี ตามหลักการปฏิบัติที่ดี ทั้งนี้ การเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร มิได้หมายถึงการไม่มีรายได้ แต่หมายถึงการไม่แสวงหากำไรเพื่อนำมาแบ่งปันระหว่างกรรมการหรือผู้หนึ่งผู้ใด รายได้ที่เกิดจากการให้บริการที่ปรึกษา การบริหารโครงการ การขายตำรา รวมถึงดอกเบี้ยเงินฝาก มูลนิธิฯ ได้มีการชำระภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร

      การมีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ในเรื่อง นโยบายภาครัฐ เทคนิค/เทคโนโลยี การเงิน กฎระเบียบ และชุมชน และมีคุณสมบัติของหน่วยงานตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมและอนุรักษ์พลังงาน เป็นเหตุผลให้มูลนิธิฯ ได้รับพิจารณาให้ทำหน้าที่บริหารเงินสนับสนุนการลงทุนด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน (ESCO Fund) มีหน้าที่ประเมินความเหมาะสมของโครงการลงทุน นำเงินเข้าร่วมลงทุนหรือให้เช่าซื้ออุปกรณ์ ให้การช่วยเหลือด้านเทคนิค รวมถึงการสร้างความมั่นใจให้กับสถาบันการเงิน และการติดตามดูแลโครงการเพื่อให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ เงินสนับสนุน ESCO Fund ไม่ใช่เงินให้เปล่า เมื่อครบกำหนดถอนการลงทุน เงินต้นพร้อมผลตอบแทนจะถูกส่งคืนกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และนอกจาก มพส. แล้ว ยังมีมูลนิธิอนุรักษ์พลังงานแห่งประเทศไทยร่วมในการบริหารโครงการนี้ด้วย

      ตัวอย่างโครงการร่วมลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 7 MW บริษัท โซล่าเพาเวอร์ (โคราช 1) จำกัด ซึ่งโครงการนี้ได้สร้างความเชื่อมั่นของสถาบันการเงินต่อโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้เกิดการลงทุนโครงการอื่นๆ ตามมา โครงการโรงไฟฟ้าวิสาหกิจชุมชนพลังน้ำบ้านแม่โจ้ขนาด 27 kW อ.แม่แตง เชียงใหม่ ใช้ระบบน้ำชลประทานทางการเกษตร ผลิตไฟฟ้าขายเข้าระบบสร้างรายได้ให้ชุมชน มูลนิธิฯ ได้เป็นพี่เลี้ยงชุมชนในการพัฒนาโรงไฟฟ้า ได้แก่ การจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนการขออนุญาต การก่อสร้างโรงไฟฟ้า รวมถึงการให้ความรู้และฝึกอบรมการบริหารโรงไฟฟ้า นอกจากนั้น การให้เช่าซื้ออุปกรณ์ด้านพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูง ก็ได้สร้างโอกาสการลงทุนด้านประหยัดพลังงานแก่ผู้ประกอบการรายเล็ก

      นอกจากการพัฒนาโครงการในเชิงพาณิชย์แล้ว มูลนิธิฯ ยังมีการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนระดับชุมชนในพื้นที่ห่างไกลในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน ซึ่งดำเนินการร่วมกับ UNDP และภาคเอกชนที่ทำกิจกรรม CSR ได้แก่ ระบบโซล่าโฮม โรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชนขนาดเล็กมาก ระบบก๊าซชีวภาพขนาดเล็กจากของเสียในครัวเรือนหรือมูลสัตว์เพื่อใช้ทดแทนก๊าซหุงต้ม ซึ่งโครงการที่พัฒนานี้ทำให้ชาวบ้านได้เข้าถึงไฟฟ้า ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ในขณะที่โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลตามแนวชายแดน เช่น โรงเรียน ตชด. สามารถใช้สื่อการเรียนการสอนที่ใช้ไฟฟ้าได้ เช่น คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต สร้างโอกาสทางการเรียนให้แก่เด็กในพื้นที่นั้น

      สุดท้ายคงจบการชี้แจง ด้วยการขอร้องท่านผู้นำความคิดในสังคมทั้งหลาย ให้มีความรับผิดชอบในการนำเสนอความคิด โปรดอย่าใช้โอกาสของการได้รับความเชื่อถือจากสังคม เสนอความเห็นที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือสร้างความเสียหายแก่บุคคลอื่นอย่างไม่ถูกต้อง เพราะมิฉะนั้นแล้ว เมื่อความจริงปรากฎท่านก็จะไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมอีกต่อไป

Copyright © 2011 Energy For Environment Foundation. All right reserved.
812/66 ซอยประชาชื่น 26 ถนนประชาชื่น แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800
โทรศัพท์ +66 2115 5895  E-mail : jutamas.efe@gmail.com