มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม มพส

ข่าวสารและกิจกรรม

ข่าวทั่วไป

บทความ

บทความ

การวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการใช้พลังงานทดแทน

           กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ว่าจ้าง มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม (มพส.)ศึกษางานโครงการปรับปรุงระบบวิเคราะห์การใช้พลังงานทดแทนของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2561 โดยมีวัตถุประสงค์ข้อหนึ่ง เพื่อปรับปรุงระบบวิเคราะห์ข้อมูลการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทดแทนดั้งเดิมของประเทศไทยที่สามารถเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจของประเทศ มพส. จึงได้ใช้ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input Output Table)ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เป็นเครื่องมือในการศึกษาครั้งนี้

                 ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input Output Table)หรือตาราง I-O จัดทำโดยสำนักงานบัญชีประชาชาติ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในการวิเคราะห์ผลกระทบของนโยบายรัฐต่อตัวแปรเศรษฐกิจของประเทศ สภาพัฒน์ใช้ตาราง I-O เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ เช่น การปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเป็น 400 บาทต่อวัน หรือการประกันราคาข้าวเปลือกเป็น 15,000 บาทต่อตัน เป็นต้น เพื่อประเมินว่าจะส่งผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างใด โดยสามารถคำนวณเป็นตัวเงินได้อย่างชัดเจนทำให้รัฐทราบผลลัพธ์ของนโยบายและนำไปสู่การตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม ในตาราง I-O จะประกอบไปด้วยข้อมูลที่มีรายละเอียดของโครงสร้างการผลิตและผลผลิตของสาขาเศรษฐกิจต่างๆ ครอบคลุมระบบเศรษฐกิจของประเทศ ปัจจุบันตาราง I-O ได้กำหนดสาขาการผลิตไว้ 180 สาขา ซึ่งสามารถค้นดูได้ในเว็บไซต์ของสภาพัฒน์

               การนำตาราง I-O มาใช้กับงานศึกษาอื่นๆที่มีสาขาการผลิตซึ่งไม่ได้ระบุใน 180 สาขาของสภาพัฒน์ งานศึกษานั้นจะต้องทำการสำรวจข้อมูลโครงสร้างการผลิตของสาขาการผลิต 180 สาขารวมทั้งโครงสร้างการผลิตสาขาอื่นซึ่งไม่ได้ระบุใน 180 สาขาด้วย จากนั้นนำข้อมูลมาประมวลผลแล้วนำมาปรับปรุงในตาราง I-O จะได้ตาราง I-O 
ชุดใหม่ ซึ่งมีสาขาการผลิตอื่นรวมอยู่ด้วย ในงานศึกษานี้เป็นการวิเคราะห์ผลกระทบของพลังงานทดแทนต่อตัวแปรเศรษฐกิจของประเทศซึ่งตาราง I-O ไม่มีสาขาการผลิตพลังงานทดแทน มพส. จึงได้เพิ่มสาขาการผลิตพลังงานทดแทนเข้าไปในตาราง I-O ทั้งหมด 13 สาขาย่อย ได้แก่ สาขาพลังงานดั้งเดิมแยกเป็นฟืนและถ่าน สาขาไฟฟ้าแยกเป็นแสงอาทิตย์ ชีวมวล ขยะ น้ำเสีย ลม พลังน้ำขนาดเล็กและอื่นๆ เช่น แบล็คลิเคอร์ สาขาความร้อนแยกเป็น แสงอาทิตย์ ชีวมวล และสาขาเชื้อเพลิงชีวภาพแยกเป็นเอทานอล ไบโอดีเซล เมื่อได้ข้อมูลจากการสำรวจโครงสร้างการผลิตพลังงานทดแทน 13 สาขาย่อยรวมทั้งสาขาการผลิต 180 สาขาที่เกี่ยวข้องจะได้ตาราง I-O ชุดใหม่ประกอบด้วยสาขาการผลิต 193 สาขาเป็นตาราง REPTI (Renewable Energy Power and Thermal Input Output Table)

            มพส. ขอนำเสนอตัวอย่างการวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจไทยจากพลังงานทดแทน โดยใช้ข้อมูลพลังงานทดแทนของประเทศในปี พ.ศ. 2560 และข้อมูลที่ได้จากการสำรวจในปี พ.ศ. 2560 เป็นตัวแปร ดังนี้
 

ตารางที่ 1 แสดงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานทดแทน


 

        จากตารางที่ 1 พอสรุปสาระสำคัญที่ได้จากการผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานทดแทนในปี พ.ศ. 2560 ดังนี้

        1. สร้างมูลค่าเพิ่มรวม (GDP) ได้ 118,738 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.77 ของ GDP ประเทศ
       2. กระจายรายได้หรือ GDP ดังกล่าวไปสู่สาขาการเกษตร อุตสาหกรรม คิดเป็นร้อยละ 5.4 และ 7.8 ตามลำดับ โดยมาจากภาคการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลเป็นหลัก เนื่องจากเกษตรกรมีรายได้จากการนำแกลบ ใบอ้อย ทลายปาล์ม เศษไม้ และอื่นๆ มาขายให้กับโรงไฟฟ้าชีวมวล
       3. เกิดการจ้างงาน 214,329 คน ทำให้เกิดรายได้รวม 50,266 ล้านบาทหรือประมาณ 20,000 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งมาจากภาคการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลเป็นหลัก รองลงมาจากภาคการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
     4. ข้อที่น่าสนใจของการวิเคราะห์โดยใช้ตาราง I-O อีกแง่มุมหนึ่งคือ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเกือบทุกสาขามีการอุดหนุนทางการเงินยกเว้นการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนขนาดใหญ่ โดยมีการอุดหนุนรวมทั้งสิ้น 55,319 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับสภาพที่เกิดขึ้นจริงจากการอุดหนุนค่าไฟฟ้าของภาครัฐให้กับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเหล่านี้
 
     เพื่อให้ทราบผลดีและผลเสียจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเปรียบเทียบกับการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้า โดยใช้ราคารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล (ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ) ในปี พ.ศ. 2560 ที่ 2.4648 บาทต่อหน่วย นำมาผลิตไฟฟ้าทดแทนปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานทดแทนซึ่งมีปริมาณทั้งสิ้น 29,019.80 ล้านหน่วย จะได้ผลกระทบตามตารางท้ายนี้
 

ตารางที่ 2 เปรียบเทียบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและเชื้อเพลิงฟอสซิล

       
      จากตารางที่ 2 สามารถสรุปได้ว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมากกว่าการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล หากพิจารณาเป็นรายสาขาเศรษฐกิจพบว่าเป็นประโยชน์เกือบทุกสาขาเศรษฐกิจ ดังนี้

          1. สร้างมูลค่าเพิ่มรวม (GDP) มากกว่าเป็นเงิน 62,092 ล้านบาท
          2. สร้างรายได้ให้กับสาขาการเกษตรมากกว่าเป็นเงิน 6,114 ล้านบาท
          3. สร้างรายได้ให้กับสาขาอุตสาหกรรมน้อยกว่าเป็นเงิน 16,666 ล้านบาท เป็นสาขาเดียวที่การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลได้เปรียบเพราะรายได้กระจายไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน
         4. มีการจ้างงานมากกว่าเป็นจำนวน 97,379 คน และทำให้เกิดรายได้มากกว่าเป็นเงิน 33,880 ล้านบาท
         5. การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลสร้างรายได้ให้กับรัฐในรูปแบบภาษีทางอ้อมเป็นเงิน 10,010 ล้านบาท ในขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนต้องได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐ 55,769 ล้านบาท ข้อนี้ดูแล้วการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอาจด้อยกว่าแต่หากคำนึงถึงมูลค่าเพิ่มโดยรวมของประเทศแล้วการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนได้สร้างมูลค่าเพิ่มหรือ GDP มากกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นเงิน 62,092 ล้านบาท ทำให้สามารถอธิบายได้ในเชิงโครงสร้างของการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยคือ การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลจำเป็นต้องนำเข้าเชื้อเพลิง อาทิ ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน ที่เป็นต้นทุนหลักและมีมูลค่าสูง ซึ่งการนำเข้านั้นถือเป็นส่วนรั่วไหล (Leakage) ในระบบเศรษฐกิจของประเทศ จึงสร้างมูลค่าเพิ่มหรือ GDP ได้น้อยเทียบกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่แทบไม่มีการนำเข้าเลย โดยการใช้วัตถุดิบในประเทศถือเป็นการสร้างตัวทวี (Multiplier) ในระบบการผลิตของประเทศ 

      ในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากตาราง REPTIO ไม่สามารถศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จึงขอวิเคราะห์จากสถิติปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโรงไฟฟ้าในประเทศและสถิติหน่วยผลิตไฟฟ้าที่ผลิตได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 จนถึงปัจจุบันของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) พบว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2534 การผลิตไฟฟ้า 1 หน่วยได้ปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็น 685.2 กรัม หลังจากนั้นรัฐได้ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในรูปของ เชื้อเพลิงชีวมวล ชีวภาพ แสงอาทิตย์ ลมและขยะ เข้ามาเสริมในระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศอย่างต่อเนื่อง ทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยจากการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยลดลงเพียง 437.2 กรัมเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าการส่งเสริมพลังงานทดแทนในระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศได้ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในแต่ละปีได้หลายล้านตันเมื่อเปรียบเทียบกับอดีตที่ยังไม่มีการส่งเสริมพลังงานทดแทนดังกล่าวข้างต้น
 


 


Copyright © 2011 Energy For Environment Foundation. All right reserved.
812/66 ซอยประชาชื่น 26 ถนนประชาชื่น แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800
โทรศัพท์ +66 2115 5895  E-mail : jutamas.efe@gmail.com