มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม มพส

โครงการปัจจุบัน

โครงการในอดีต

กิจกรรม

บทความ
และเอกสารเผยแพร่

ร่วมบริจาค

โครงการอุ้มผาง

โครงการพลังงานหมุนเวียน จังหวัดแม่ฮ่องสอน

บทความและเอกสารเผยแพร่

กลไกพลังงานสีเขียวในประเทศไทย
โดย ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ (ประธานที่ปรึกษามูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม)

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้มีโอกาสพาคณะของบริษัทไทยออยล์จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง"กลไกพลังงานสีเขียว" ที่ดำเนินการโดยมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ไปเยี่ยมชมและทำพิธีมอบเตานึ่งใบ เมี่ยงประสิทธิภาพสูงที่บ้านป่าเหมี้ยง รวมทั้งไปดูความก้าวหน้าของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดจิ๋วที่เชียงใหม่

หมู่บ้านป่าเหมี้ยง ตั้งอยู่ ณ อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง ลักษณะที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภูเขาสูง ห่างจากตัวเมืองลำปางกว่า 70 กิโลเมตร มีชาวบ้านอยู่อาศัยรวม 132 ครัวเรือน โดยทั้งหมดจะประกอบอาชีพทำ เมี่ยงเป็นหลัก ชื่อบ้านป่าเหมี้ยงอาจเป็นที่คุ้นหูและคุ้นตาของหลายคน จากข่าวทางโทรทัศน์และหน้า หนังสือพิมพ์เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ที่วัวของชาวบ้านถูกเสือกัดตาย 13 ตัว และสูญหายไปอีก 7 ตัว มูลนิธิฯ ได้เข้าไปที่บ้านป่าเหมี้ยงเพราะคุณหมอวงศ์กุลพัทธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ซึ่งไปทำโครงการ CSR ของ บริษัท CS Loxinfo ขอให้เข้าไปช่วยดูปัญหาไฟฟ้าในหมู่บ้าน แต่สิ่งที่ไปพบและน่าสนใจมากก็คือมีการใช้ไม้ ฟืนจำนวนมากเป็นเชื้อเพลิงในการนึ่งใบเมี่ยงอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้สิ้นเปลืองมาก

การประกอบอาชีพทำเมี่ยงของชาวป่าเหมี้ยงนั้น โดยปกติชาวบ้านจะทำเมี่ยงเป็นระยะเวลา 8 เดือน และอีก 4 เดือนเป็นช่วงเวลาในการหาฟืนสำหรับนึ่งเมี่ยง การทำเมี่ยงนั้นต้องนำใบเมี่ยง (ใบอ่อนของ ต้นชา) ไปผ่านกระบวนการนึ่ง โดยเตานึ่งใบเมี่ยงดั้งเดิมของชาวบ้านนั้นมีประสิทธิภาพต่ำ กล่าวคือการนึ่ง เมี่ยง 25 กิโลกรัมต้องใช้ฟืนถึง 20-25 กิโลกรัม และยังเกิดควันจากการเผาไหม้ฟืนเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผล กระทบต่อสุขภาพอนามัยของชาวบ้าน นอกจากนี้ การขยายตัวของประชากรในชุมชนป่าเหมี้ยงยังส่งผลให้ ความต้องการใช้ไม้สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นและเกิดปัญหาการบุกรุกป่าเพื่อนำไม้มาเป็นเชื้อเพลิง

แผน Corporate Social Responsibility (CSR) ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ให้ ความสำคัญกับการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนและการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ให้กับท้องถิ่นทุรกันดาร จึงได้ให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นจำนวน 1 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงการภายใต้กลไกพลังงานสีเขียว (Green Energy Mechanism) โดยได้เลือกโครงการ ปรับปรุงประสิทธิภาพเตานึ่งเมี่ยงเป็นโครงการนำร่องตามแผน CSR ของบริษัทฯ รวมถึงโครงการไฟฟ้าพลัง น้ำขนาดจิ๋วที่บ้านเปียน จ.เชียงใหม่ ซึ่งพนักงานของบริษัทฯ ได้มีส่วนร่วมในในการพัฒนาโครงการด้วย

ในการออกแบบเตานึ่งใบเมี่ยงประสิทธิภาพสูง มูลนิธิฯ ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานนโยบาย และแผนพลังงาน (สนพ.) ซึ่งได้ให้ทีมของอาจารย์ชัชวาลย์ ชัยชนะ แห่งสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินการคิดค้นเตานึ่งเมี่ยงยุคใหม่ประหยัดพลังงาน รวมถึงการนำไปเผยแพร่ ฝึกอบรมการก่อสร้างให้แก่ชาวบ้าน ซึ่งโครงการนี้ยังได้รับความร่วมมือจากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ในการประสานงานด้านชุมชน และ การสนับสนุนปูนซิเมนต์สำหรับการติดตั้งเตาอีกด้วย ปัจจุบัน บริษัท ไทยออยล์ฯ ได้ให้การสนับสนุนเตานึ่งเมี่ยงซึ่งได้ดำเนินการติดตั้งไปแล้ว 55 เตา สำหรับ 55 หลังคาเรือน โดยคุณสมชัย วงศ์วัฒนศานต์ ผู้ช่วยกรรมการอำนวยการด้านบริหารองค์กรของ บริษัท ไทยออยล์ฯ ได้ส่งมอบเตานึ่งเมี่ยงให้แก่ชาวบ้านไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้มีเป้าหมายติดตั้งรวม ทั้งสิ้น 81 เตา ผลการดำเนินการปรากฏว่าดีมาก คือช่วยลดการใช้ฟืนลงได้ถึง 60-65% ทั้งนี้เพราะเตานึ่ง เมี่ยงประสิทธิภาพสูงได้รับการพัฒนาโดยเพิ่มพื้นที่ผิวในการถ่ายเทความร้อนเพิ่มขึ้น 4 เท่า เมื่อเปรียบเทียบ 2 กับเตาดั้งเดิม และติดตั้งฉนวนเพื่อลดการสูญเสียความร้อนของเตา ดังนั้นหากมีการติดตั้งเตาเรียบร้อยแล้วทั้ง 81 เตา ก็จะสามารถลดการใช้ไม้ฟืนได้ถึงปีละ 240 ตัน นอกจากนั้นเตาประสิทธิภาพสูงยังช่วยลดระยะเวลาใน การนึ่งเมี่ยงอีกด้วย กล่าวคือ เตาประสิทธิภาพสูงทำให้น้ำเดือดเร็วขึ้น โดยใช้เวลาประมาณ 30 นาทีตั้งแต่เริ่ม จุดเตาจนน้ำเริ่มเดือด เดิมใช้เวลา 40-45 นาที ส่วนระยะเวลาในการนึ่งเมี่ยงก็ลดลงจาก 80-90 นาทีเหลือ 60 นาที ส่วนต้นทุนนั้นอยู่ในระดับ 8,200 บาทต่อเตา มีระยะเวลาคืนทุนไม่ถึง 2 ปี แต่ "กลไกพลังงานสีเขียว" ออกค่าใช้จ่ายให้ส่วนใหญ่ ระยะเวลาคืนทุนของชาวบ้านจึงสั้นกว่ามาก แต่เนื่องจากเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าเตา ประสิทธิภาพสูงสามารถช่วยลดการใช้ฟืนได้จริง ในระยะต่อไปชาวบ้านคงต้องออกค่าใช่จ่ายในสัดส่วนที่สูงขึ้น เพื่อให้การเผยแพร่เตามีความยั่งยืน

บ้านป่าเหมี้ยงเป็นหมู่บ้านที่น่าสนใจ จากสถานที่และทิวทัศน์ที่สวยงาม ในปัจจุบันจึงเริ่มมี นักท่องเที่ยวไปเที่ยวชมและพักกันมากขึ้น และได้เกิดธุรกิจโฮมเสตย์ขึ้น นอกจากนั้น บ้านป่าเหมี้ยงยังมี ศักยภาพในการพัฒนาพลังน้ำได้อีกด้วย โดยมีเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กมากที่สร้างมานานแล้ว แต่ปัจจุบัน ไม่ได้ใช้งานเต็มที่เพราะถูกละเลยมาเป็นเวลานาน หลังจากระบบไฟฟ้าของของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเข้าไปถึง แล้ว อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในการอำนวยความสะดวกที่เพิ่มขึ้นของชาวบ้าน ได้ทำให้คุณภาพไฟฟ้าที่ผลิตจาก พลังน้ำขนาดจิ๋วมีปัญหาในช่วงที่มีการใช้ไฟมากสำหรับชาวบ้านที่ใช้ไฟฟ้าพลังน้ำ ในขณะนี้มูลนิธิฯ กำลัง ศึกษาถึงวิธีการที่เหมาะสมที่สุดในการจัดหาพลังงานไฟฟ้าให้แก่หมู่บ้าน

โครงการต่อมาของกลไกพลังงานสีเขียวที่บริษัทไทยออยล์ฯ ให้การสนับสนุนคือ โครงการ โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดจิ๋วที่เรียกว่าพิโคไฮโดร (Pico Hydro) ขนาด 3 กิโลวัตต์ ณ หมู่บ้านเปียน ตำบลเทพ เสด็จ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางวิชาการหรือเทคนิคจาก ผอ. อนุชา อนันตศานต์ และเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน โดยที่ชาวบ้านได้ร่วมแรงร่วมใจใน การก่อสร้างอาคารโรงไฟฟ้า และการปักเสาพาดสาย ซึ่งคณะฯ ได้เดินทางไปดูความก้าวหน้าของโครงการนี้ ด้วย โครงการได้เริ่มผลิตไฟฟ้าแล้วและอยู่ระหว่างเดินสายไฟฟ้าให้แก่ครัวเรือน และจะสามารถจ่ายไฟฟ้า ให้กับชาวบ้านรวม 12 ครัวเรือนได้ในไม่ช้านี้ ที่บ้านเปียนมีลำธารที่มีน้ำมากพอสมควร มีคลองเล็กๆ สำหรับ ดึงน้ำจากลำธารเพื่อนำไปใช้ในการปลูกข้าว ผอ. อนุชาฯ ได้นำน้ำจากคลองป้อนลงท่อเพื่อส่งลงไปที่เครื่อง กำเนิดไฟฟ้าที่ตั้งต่ำลงไปประมาณ 20 เมตร เครื่องกำเนิดไฟฟ้านี้ราคาไม่แพง เป็นเครื่องสำเร็จรูปของจีน และเนื่องจากไม่ต้องสร้างฝายเก็บกักน้ำ ค่าใช้จ่ายของโครงการจึงต่ำมาก คือไม่ถึง 100,000 บาท ซึ่งได้รวม ค่าใช้จ่ายสำหรับการต่อสายไฟฟ้าไปยังบ้านเรือนด้วยแล้ว แต่ละปีคาดว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 15,000 หน่วย เมื่อคำนวณต้นทุนการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าแล้ว พบว่าอยู่ในระดับไม่ถึง 1 บาทต่อหน่วยเท่านั้นเอง

ผมเชื่อว่า"กลไกพลังงานสีเขียว" จะช่วยให้มีการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนได้อย่างรวดเร็วมาก ยิ่งขึ้น โดยอาศัยความร่วมมือและความสมัครใจของประชาชน ธุรกิจ และองค์กรที่มีความต้องการอย่างแท้จริง ที่จะเห็นการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น ข้อสรุปที่สำคัญอีกประการ หนึ่งจากโครงการเหล่านี้ก็คือ ในท้องที่ห่างไกลหลายแห่งในประเทศไทย ชาวบ้านไม่มีไฟฟ้าใช้หรือมีใช้แต่ไม่ พอ และวิธีการจัดหาไฟฟ้าหรือพลังงานนั้นมีวิธีการหลากหลาย ขึ้นอยู่กับทรัพยากรที่มีในท้องถิ่น เช่นน้ำ ชีว มวล เป็นต้น ซึ่งมีต้นทุนไม่สูงนัก ถ้าหาอะไรไม่ได้จริง จึงใช้แสงอาทิตย์ซึ่งเป็นทางเลือกที่แพงที่สุดอย่าง ชัดเจน ผมอยากจะถือโอกาสนี้ขอเชิญชวนองค์กรภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจที่ตระหนักในการทำประโยชน์เพื่อ สังคม หยิบยื่นโอกาสในการช่วยพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนสำหรับชุมชนในพื้นที่ห่างไกลที่ต้องการ หรือขาดแคลนด้านพลังงาน โดยร่วมสนับสนุนผ่านมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม

Copyright © 2011 Energy For Environment Foundation. All right reserved.
812/66 ซอยประชาชื่น 26 ถนนประชาชื่น แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800
โทรศัพท์ +66 2115 5895  E-mail : jutamas.efe@gmail.com