มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม มพส

ข่าวสารและกิจกรรม

ข่าวทั่วไป

บทความ

ข่าวทั่วไป

ผลิตไฟฟ้าแสงแดดมาแรง สมาร์ทกรีนฯทุ่ม4,600ล้านเริ่่มขายเข้าระบบธ.ค.นี้

          สมาร์ทกรีนฯทุม4,600 ล้าน สร้างโซล่าร์ฟาร์มผลิตไฟฟ้าสิ้นปีนี้ พร้อมเตรียมลงทุนเฟส 2 และ 3 ที่ร้อยเอ็ด-ขอนแก่น ต่อเนื่อง ด้านธนาคารกรุงเทพระบุปรับลดแอดเดอร์ไม่กระทบปล่อยสินเชื่อเพลังงานทดแทน

 

          นายดีเอนก บุญสิมะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สมาร์ท กรีน เอ็นเนอร์จี จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ พร้อมลงทุน ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เฟสแรกที่จังหวัดชัยภูมิ ขนาดกำลังการผลิต 27 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุน 4,600 ล้านบาท โดยได้รับการสนับสนุนเงินกู้จากธนาคารกรุงเทพ 3,700 ล้านบาท หรือในอัตรากู้ 3 ส่วน และเงินทุนบริษัท 1 ส่วน ทั้งนี้คาดว่าจะเริ่มต้นการผลิตและขายไฟฟ้าเข้าระบบการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)ได้ในเดือนธ.ค.นี้ และมีรายได้จากโครงการดังกล่าว 500 ล้านบาทในปีแรกของการขายไฟฟ้า และคืนทุนภายใน 8-9 ปี

 

          นอกจากนี้ บริษัทฯได้เตรียมลงทุนผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เฟส 2 และเฟส 3 ต่อเนื่อง โดยในปีหน้ามีแผนผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่จังหวัดร้อยเอ็ด ขนาดกำลังการผลิต 12 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุน 2,000-2,500 ล้านบาท และในปี 2556  จะสร้างเฟส 3 ที่จังหวัดขอนแก่น ขนาดกำลังการผลิต 40 เมกะวัตต์ และคาดว่าจะใช้เงินลงทุนอีก 5,000 ล้านบาท โดยทั้ง 3 เฟสดังกล่าวได้รับการสนับสนุนเงินส่วนเพิ่มในการรับซื้อไฟฟ้า(แอดเดอร์)จากกระทรวงพลังงาน 8 บาทต่อหน่วย ซึ่งการที่บริษัทฯได้อัตราแอดเดอร์ดังกล่าวเนื่องจากได้ยื่นขอแอดเดอร์มาตั้งแต่เดือนต.ค. 2554 ก่อนที่กระทรวงพลังงานจะหยุดรับซื้อไฟฟ้าเพื่อปรับปรุงการให้เงินสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนใหม่

 

          อย่างไรก็ตาม คาดว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนทั้ง 3 เฟสจะสร้างรายได้ให้บริษัทเติบโตประมาณ 5-10% ต่อปี สำหรับโครงการนี้ได้คัดเลือกบริษัท บางกอกโซลาร์ พาวเวอร์ จำกัด และบริษัท ดูปองท์ จำกัด ในด้านเทคโนโลยีและอุปกรณ์การติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์

 

          “การก้าวเข้าสู่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เนื่องจากธุรกิจที่ทำอยู่คือธุรกิจเหล็กซึ่งใช้เชื้อเพลิงมาก จึงมองหาธุรกิจที่ช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานลง จึงหันมาจับธุรกิจนี้ อีกทั้งเป็นการลงทุนเพียงครั้งเดียวและใช้เงินบำรุงรักษาน้อย ทั้งยังได้รับการประกันแผงเซลล์นานถึง 20-25 ปี ไม่มีค่าเชื้อเพลิง เพราะพลังงานต้นทางคือแสงอาทิตย์อีกทั้งเป็นเทคโนโลยีเขียวที่ชุมชนให้การยอมรับ อีกทั้ง บีโอไอ ให้กาส่งเสริมการลงทุนด้วย” นายดีเอนก กล่าว

 

          นายชาญศักดิ์ เฟื่องฟู กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมาธนาคารกรุงเทพให้การสนับสนุนโครงการด้านพลังงานทดแทนกว่า 1 หมื่นล้านบาท และการปล่อยสินเชื่อจะเน้นพิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการ ระบบการเงินทั้งหมดของบริษัท และพิจารณาทีมผู้บริหารและผู้ร่วมทุน อย่างไรก็ตามแม้ขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนการให้แอดเดอร์เป็นระบบการจ่ายจริงตามต้นทุนการผลิต หรือ ฟีทอินทรารีฟ โดยอัตราการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จะลดลงจาก 8 บาทต่อหน่วย เหลือต่ำกว่า 6.50 บาทต่อหน่วยนั้น ธนาคารกรุงเทพมองว่าไม่เป็นอุปสรรคต่อการพิจารณาสินเชื่อ แต่เป็นความท้าทายทั้งของผู้ขอกู้และธนาคารที่ต้องช่วยกันประเมิน วิเคราะห์ และหาทางลดต้นทุนการผลิตให้ได้ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ทำธุรกิจที่ประหยัดพลังงานเพื่อประเทศต่อไป

 

23  มกราคม 2555
สยามรัฐ

Copyright © 2011 Energy For Environment Foundation. All right reserved.
812/66 ซอยประชาชื่น 26 ถนนประชาชื่น แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800
โทรศัพท์ +66 2115 5895  E-mail : jutamas.efe@gmail.com