มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม มพส

ข่าวสารและกิจกรรม

ข่าวทั่วไป

บทความ

ข่าวทั่วไป

มติกกพ.ให้ปรับขึ้นค่าเอฟทีงวด พ.ค.-ส.ค.เป็น 30 สต./หน่วย
          คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เผยปริมาณการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศร้อน และราคาเชื้อเพลิง ส่งผลให้ค่าเอฟทีในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 55 ปรับขึ้น 57.45 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็น 1) ต้นทุนค่าผลิตไฟฟ้า 38.40 สตางค์ต่อหน่วย และ 2) ค่าเชื้อเพลิงและค่ารับซื้อไฟฟ้าเดิมที่ กฟผ. รับภาระอยู่ก่อนแล้ว จำนวน 19.05 สตางค์ต่อหน่วย
         
           ทั้งนี้ จากมาตรการที่ กกพ. ขอความร่วมมือให้ประชาชนลดการใช้พลังงานในช่วงระหว่างวันที่8 - 18 เม.ย.ที่ผ่านมา ทำให้มีการใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าน้อยกว่าประมาณการฯ และนำมาเป็นส่วนลดค่าเอฟทีได้จำนวน 2.64 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าเอฟทีเท่ากับ 54.81 สตางค์ต่อหน่วย

           นอกจากนี้ กกพ.ได้ขอให้ กฟผ.พิจารณารับภาระในค่าเชื้อเพลิงและค่ารับซื้อไฟฟ้าเดิมที่ กฟผ.รับภาระอยู่ก่อนแล้ว จำนวน 19.05 สตางค์ต่อหน่วย ต่อไปอีกเป็นการชั่วคราว ทำให้ค่าเอฟทีเหลือเท่ากับ 35.76 สตางค์ต่อหน่วย และ กกพ. จะนำเงินจากการลงทุนที่ต่ำกว่าแผนของการไฟฟ้า ระหว่างปี 2551 - 2553 มาช่วยลดผลกระทบในค่าเอฟทีอีก ดังนั้น จะเหลือค่าเอฟทีเรียกเก็บ สุดท้ายจำนวนเท่ากับ 30 สตางค์ต่อหน่วย พร้อมกำหนดเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ผ่าน www.erc.or.th ก่อนประกาศค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับค่าเอฟทีสำหรับการเรียกเก็บในเดือน พ.ค.- ส.ค. ต่อไป
         
           ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.เปิดเผยภายหลังการประชุม “การประมาณการค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าเอฟที สำหรับการเรียกเก็บในเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2555” ว่า กก พ. คำนึงถึงภาระค่าเอฟทีที่ส่งผ่านไปยังประชาชนต้องสะท้อนต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ที่แท้จริง ในขณะเดียวกันเป็นการส่งสัญญาณไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าว่า การใช้พลังงานอย่างประหยัดในขณะที่ราคาค่าเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มเพิ่มสูง ขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคตก็เป็นสิ่งจำเป็น โดยที่ประชุม กกพ. มีมติให้ปรับขึ้นค่าเอฟทีรอบดังกล่าวเพียงบางส่วน จำนวน 30 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งต่ำกว่าการคำนวณของ กฟผ. กว่าร้อยละ 47 โดย กฟผ. คำนวณค่าเอฟทีในรอบเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2555 ในอัตรารวมทั้งสิ้น 57.45 สตางค์ต่อหน่วย ประกอบด้วยต้นทุนค่าผลิตไฟฟ้า จำนวน 38.40 สตางค์ต่อหน่วย และค่าเชื้อเพลิงและค่ารับซื้อไฟฟ้าที่รับภาระอยู่ก่อนแล้วอีกชั่วคราว จำนวน 19.05 สตางค์ต่อหน่วย
         
           สำหรับปัจจัยที่ทำให้ผลการคำนวณค่าเอฟที ในรอบเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2555 เพิ่มขึ้นนั้น สาเหตุหลักเกิดจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือน ช่วงเดือนมกราคม - เมษายน 2555 ที่ เพิ่มขึ้นอย่างมาก ในขณะที่ภาคการผลิตเพิ่งเริ่มจะฟื้นตัว นอกจากนี้ เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนสูงผิดปกติ ส่งผลให้การใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับราคาเชื้อเพลิงใช้ผลิตไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้น โดย
 
          - อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ที่จะใช้ เท่ากับ 30.92 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นอัตราที่แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย
          - ประมาณการความต้องการใช้ไฟฟ้า เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 4
          - ราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งคิดเป็นร้อยละ 70 ของเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปรับเพิ่มขึ้น 8.63 บาท/ล้านบีทียู เป็น 301.28 บาทต่อล้านบีทียู หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.95
          - ราคาน้ำมันเตา ปรับเพิ่มขึ้น 1.08 บาทต่อลิตร เป็น 25.87 บาทต่อลิตร หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.36
          - ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้น 0.92 บาทต่อลิตร เป็น 28.19 บาทต่อลิตร หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.37ดังนั้น ค่า Ft ในช่วงเดือนพฤษภาคมสิงหาคม 2555
 
          สำหรับการเรียกเก็บจากประชาชนจึงเท่ากับ 30 สตางค์ต่อหน่วย สำหรับมติดังกล่าว กกพ.จะนำรายละเอียดที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเผยแพร่ผ่าน www.erc.or.th เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2555 จนถึงวันที่ 4 พฤษภาคม 2555 ก่อนที่จะนำผลการรับฟังฯ มาพิจารณา และประกาศเรียกเก็บค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับค่าเอฟทีสำหรับการเรียกเก็บในรอบ ดังกล่าว
อย่างเป็นทางการต่อไป
          
          "การพิจารณาค่าเอฟที กกพ.มีการพิจารณาบนพื้นฐานของความเป็นธรรมต่อทั้งผู้ใช้ไฟฟ้า และผู้ประกอบการ โดยจะพิจารณาถึงต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ซึ่งรวมถึงค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ค่าซื้อไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงจากค่าไฟฟ้าฐาน พร้อมทั้งอัตราแลกเปลี่ยน และสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนก่อนประกาศใช้ค่าเอ ฟทีในแต่ละงวด ในขณะเดียวกัน ค่าเอฟทีที่เพิ่มสูงขึ้นเป็น การส่งสัญญาณไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าว่า การใช้พลังงงานอย่างประหยัดในขณะที่ราคาค่าเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มเพิ่มสูง ขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคตก็เป็นสิ่งจำเป็น โดยที่ผ่านมา กกพ. ได้มีการพิจารณาค่าเอฟที ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงครั้งนี้ รวม 15 ครั้ง โดยได้มีการให้นำเงินส่วนลดการลงทุนที่ต่ำกว่า แผนของทั้ง 3 การไฟฟ้า จำนวนกว่า 9,500 ล้านบาท มาบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นของค่าเอฟทีตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2551 เป็นต้นมา" ดร.ดิเรกฯ กล่าว

 

25  เมษายน  2555
ฐาน เศรษฐกิจ
Copyright © 2011 Energy For Environment Foundation. All right reserved.
812/66 ซอยประชาชื่น 26 ถนนประชาชื่น แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800
โทรศัพท์ +66 2115 5895  E-mail : jutamas.efe@gmail.com