มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม มพส

ข่าวสารและกิจกรรม

ข่าวทั่วไป

บทความ

ข่าวทั่วไป

บทพิสูจน์แห่งความท้าทาย พลังงานชีวภาพ-ชีวมวล คือกระแสหลัก?





บทพิสูจน์แห่งความท้าทาย พลังงานชีวภาพ-ชีวมวล คือกระแสหลัก?
พลังงาน รู้ไว้ ไทยยั่งยืน





          อาจยังต้องอาศัยระยะเวลาในการพิสูจน์นโยบายการส่งเสริมพลังงานทดแทน พลังงานทางเลือกของประเทศไทยว่ามาถูกทางหรือไม่ ในเมื่อเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนบนตัวเลขที่ 25 เปอร์เซ็นต์ แต่ปัจจุบันกลับยังมีการใช้พลังงานทดแทนอยู่เพียง 9.4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

          แล้วจริงหรือ ที่พลังงานชีวภาพ และชีวมวลจะเป็นกระแสหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

          ”ผมเชื่อว่าพลังงานสะอาด พลังงานทดแทน หรือ พลังงานทางเลือกเป็นเมกะเทรนด์สำหรับโลกยุคปัจจุบันและในอนาคต โดยเป็นกระแสที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ อีกทั้งยังมีคนสนใจอยากจะลงทุนเรื่องนี้มากขึ้น เมื่อมีคนสนใจมากขึ้นก็ทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีมีความทันสมัยและมีต้นทุนที่ถูกลง”
          ย้ำถึงความเชื่อมั่นของ ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน โดยเขากล่าวต่อว่าประเทศไทยมีความสนใจเกี่ยวกับพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือกมานานแล้ว เพียงแต่ในอดีตที่ผ่านมานั้นการพัฒนาไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากต้นทุนยังคงอยู่ในระดับที่สูง ไม่เกิดการจูงใจต่อการลงทุน จึงส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของไทยเดินหน้าได้ไม่มากเท่าที่ควร
          ในทางตรงกันข้ามประเทศไทยก็ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าตามนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทนมาอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยนั้นในทางตรงกันข้ามประเทศไทยก็ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าตามนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทนมาอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยนั้นถือว่ามีความโดดเด่นในเรื่องการพัฒนาพลังงานทดแทนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งในมุมมองของเขาเห็นว่า “โรงไฟฟ้าชีวภาพ ชีวมวล” น่าจะกลายเป็นกระแสหลักของประเทศภายในอีก 1-2 ปีข้างหน้า และผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ยุค “Manufacture Biomass” ที่จะต้องมีการวางแผนเพาะปลูกพืชเพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานไฟฟ้าอย่างเป็นระบบ แทนที่การนำวัตถุดิบเหลือใช้จากภาคการเกษตรมาใช้ดังเช่นทุกวันนี้
          ดังนั้นกระทรวงพลังงานจึงกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาและพบรูปแบบที่น่าสนใจ ก็คือ การใช้ชุมชนทำครบวงจร ปลูก ขนส่ง ลำเลียง ผลิตเป็นแท่ง และผลิตไฟฟ้า
          ขณะเดียวกัน กระแสการตอบรับในส่วนของโครงการลงทุน “ไฟฟ้าแสงอาทิตย์” เองก็ได้รับความนิยมไม่น้อยคือมีอยู่ถึง 97 โครงการปัจจุบันสามารถขายไฟเข้าระบบแล้ว 158 เมกะวัตต์ จากที่มีผู้ยื่นเจตจำนงเซ็นสัญญากับภาครัฐอีก 2,240 เมกะวัตต์
          “ผมถือว่านโยบายด้านพลังงานทดแทนของไทยเราเป็นการเดินในเวลาที่เหมาะสมกับจังหวะที่ทั่วโลกหันมาให้ความสนใจพลังงานทดแทนกันมากขึ้น และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้การพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของประเทศไทยเกิดขึ้นได้รวดเร็ว จนทำให้ไทยกลายเป็นอีกหนึ่งประเทศในโลกที่มีความน่าสนใจในการลงทุนด้านพลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานทดแทนจากเซลล์แสงอาทิตย์ พลังงานชีวภาพ และชีวมวล เนื่องจากไทยเองมีวัตถุดิบและทรัพยากรมากพอที่จะใช้ในการดำเนินงาน”
          ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้กำหนดแผนพัฒนาพลังงานทดแทนในระยะ 10 ปีข้างหน้า (2555-2564) มุ่งเน้นให้มีการใช้พลังงานทดแทนโดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานไฟฟ้า ในสัดส่วน 25 เปอร์เซ็นต์ของการใช้พลังงานไฟฟ้าที่มาจากพลังงานประเภทฟอสซิล หรือ ราว 1 ใน 4 ของพลังงานทั้งหมด
          ดร.ทวารัฐ อธิบายเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 31,000 เมกะวัตต์ ซึ่งในแต่ละปีก็มีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจที่มีการพัฒนาต่อเนื่องและคาดการณ์ว่าในอนาคตอาจเพิ่มมากถึง 40,000 เมกะวัตต์ และเกิดความกังวลว่าพลังงานไฟฟ้าที่มีอยู่อาจมีไม่เพียงพอ และที่สุดจะต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างชาติมากขึ้น ซึ่งหมายถึงการสูญเสียเงินตราเป็นจำนวนมหาศาลและความไม่มั่นคงด้านพลังงาน
          กระทรวงพลังงานจึงวางแผนนำพลังงานทดแทนมาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการช่วยลดการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิล โดยในแผนดังกล่าวกำหนดว่า จะต้องมีการผลิตไฟฟ้าจากส่วนนี้ประมาณ 9,200 เมกะวัตต์ แต่ปัจจุบันมีเอกชนผู้ที่สนใจเข้ามาลงทุนเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่ได้ยื่นขอรับใบอนุญาตมากถึง 10,000 เมกะวัตต์ ซึ่งสูงว่าการรับซื้อไฟฟ้าในสัดส่วนที่รัฐบาลกำหนดเอาไว้
          “ความต้องการจริงมีแค่ 1 ใน 4 ของพลังงานฟอสซิล แต่ตอนนี้เรามีมากเกินความต้องการ ซึ่งกระทรวงพลังงานจะพยายามขยายในส่วนนี้ให้มากขึ้น รวมถึงเข้ามาดูแลเพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ทุกๆ ฝ่าย โดยหาวิธี หรือมาตรการป้องกันไม่ให้เอกชนมีการไล่ซื้อใบอนุญาตมาเก็บเอาใว้เพื่อผลิตเองแต่เพียงผู้เดียว รัฐจะพยายามกระจายให้ทั่วถึงทุกคนที่สนใจเพื่อเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล”
          อย่างไรก็ดีเมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานทดแทนบนตัวเลขที่ 25 เปอร์เซ็นต์สิ้นปี 2554 ถึงปัจจุบันยังมีการใช้พลังงานทดแทนอยู่เพียง 9.4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ดร.ทวารัฐ กล่าวว่าจำเป็นต้องเร่งผลักดันให้มีการใช้ให้มากขึ้น ซึ่งจะเน้นนโยบายเชิงรุกในการพัฒนาพลังงานทดแทนและส่งเสริมพลังงานทางเลือกมากขึ้น โดยอาศัยกลไกขับเคลื่อนหลักมาจากภาคเอกชนลงทุนภาคการผลิตทุกรูปแบบ
          นอกจากนั้นยังต้องกระตุ้นให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนให้มากขึ้นด้วย วิธีการก็คือเพิ่มค่ารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนกลับคืน หรือ Adder ซึ่งในปัจจุบันรัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบ Feed-in Tariff ที่มีความจูงใจมากขึ้นในระยะยาว แทนการลอยตัวตามราคาไฟฟ้าด้วย Adder ระยะสั้น
          “ประเทศไทยเราเนื้อหอมมากในเวลานี้ เพราะมีนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศสนใจจะเข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้มากขึ้น ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่ากระทรวงพลังงานมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและกำหนดเป็นนโยบายออกมาอย่างชัดเจน ทำให้นักลงทุนเห็นว่าไทยเรามีความตั้งใจจริง ผมเชื่อว่านโยบายการส่งเสริมพลังงานทดแทน พลังงานทางเลือกของไทยมาถูกทางแล้ว”

          ขณะที่เขาบอกว่าเป้าหมายในอนาคตของประเทศไทย ก็คือการเป็นศูนย์กลางพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก รวมถึงการก้าวเป็นเบอร์หนึ่งในภูมิภาคอาเซียนในส่วนของพลังงานชีวภาพและชีวมวล ซึ่งสุดท้ายคงต้องอาศัยระยะเวลาพิสูจน์ผลสำเร็จ

19  กรกฎาคม  2555
กรุงเทพธุรกิจ

Copyright © 2011 Energy For Environment Foundation. All right reserved.
812/66 ซอยประชาชื่น 26 ถนนประชาชื่น แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800
โทรศัพท์ +66 2115 5895  E-mail : jutamas.efe@gmail.com