มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม มพส

ข่าวสารและกิจกรรม

ข่าวทั่วไป

บทความ

ข่าวทั่วไป

ผู้ผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ 30 โรง รวมกว่า 100 เมกะวัตต์ หวั่นถูกยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

 

      ผู้ผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ 30 โรง รวมกว่า 100 เมกะวัตต์ หวั่นถูกยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้า คณะกรรมการกลั่นกรองไม่อนุมัติใบอนุญาต รง.4 ส่งผลผลิตไฟฟ้าไม่ทันกำหนด COD ก.พลังงานเตรียมพิจารณาขยับเลื่อนเวลาให้เป็นรายโครงการ ด้านกลุ่มพลังงานทดแทน ส.อ.ท. ผนึกกรมโรงงานชี้แจงสมาชิกทำอย่างไรให้ผ่านการพิจารณาใบอนุญาต รง.4


       แหล่งข่าวจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (VSPP) เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ได้รับผลกระทบจากความล่าช้าในการพิจารณาให้ใบอนุญาต รง.4 จากคณะกรรมการกลั่นกรอง ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่จะถึงกำหนดการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ตามที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเร็ว ๆ นี้ แต่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตดังกล่าว ฉะนั้นเป็นไปได้ที่อาจถูกยกเลิกสัญญาประมาณ 30 โครงการ รวมกำลังผลิตติดตั้งกว่า 100 เมกะวัตต์ทั้งนี้ ต้องการให้กระทรวงพลังงานพิจารณาช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ถือเป็นโครงการที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในความเป็นจริงจึงไม่ควรเข้าข่ายต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกลั่นกรองชุดดังกล่าว

       ด้านนายเสมอใจ ศุขสุเมฆ รองผู้อำนวย การสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ.และกระทรวงพลังงานอยู่ในขั้นตอนหารือเพื่อแก้ปัญหาให้กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้า VSPP สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่อาจจะไม่สามารถผลิตไฟฟ้าเข้าระบบตามที่ระบุไว้ใน COD เนื่องจากไม่ได้รับพิจารณาอนุมัติใบอนุญาต รง.4 เบื้องต้นจะแยกออกเป็น 2 กลุ่มคือ 1) กลุ่มที่ไม่มีคุณสมบัติได้ใบ รง.4 อยู่แล้ว และอาจต้องยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และ 2) กลุ่มที่มีคุณสมบัติได้ใบ รง.4 และอาจจะได้รับการอนุโลมปรับช่วงเวลาไฟฟ้าเข้าระบบได้

        สำหรับกลุ่มที่อาจได้รับการอนุโลมนั้นจะต้องพิจารณาเป็นรายโครงการไปว่ามีความพร้อมจะผลิตไฟฟ้าหรือไม่ หากติดปัญหาแค่เพียงใบ รง.4 ก็จะให้ปรับเลื่อนเวลาการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้ ส่วนจะยืดระยะเวลาออกไปอย่างไรจะต้องพิจารณาอีกครั้งตามความเหมาะสมของแต่ละโครงการ"ต้องยอมรับว่า เป็นเรื่องที่ดีที่กระทรวง อุตฯให้ความสำคัญและเข้มงวดในเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่แค่เฉพาะผู้ผลิตไฟฟ้าเท่านั้นมักจะก่อสร้างโรงงานไปก่อนที่จะได้ใบอนุญาต เมื่อมีคณะกรรมการกลั่นกรองเข้ามาพิจารณาก็ต้องให้ความสำคัญในขั้นตอนนี้เพิ่มมากขึ้น" นายเสมอใจกล่าวว่า ไม่ได้มีเพียงโรงไฟฟ้าเฉพาะรายเล็กเท่านั้นที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาต รง.4 โรงไฟฟ้าใหญ่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คือโรงไฟฟ้าจะนะ ยูนิต 2 กำลังผลิตติดตั้ง 800 เมกะวัตต์ ที่จะต้องเข้าระบบในช่วงเดือนเมษายน 2557 และโรงไฟฟ้าวังน้อย ยูนิต 4 ที่จะเข้าระบบในปี 2557 กำลังผลิตติดตั้ง 800 เมกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ในระหว่างขอใบอนุญาต รง.4 เช่นกัน รวมถึงทั้ง 2 โรงได้มีการก่อสร้างไปก่อนหน้านี้ถือว่าผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติโรงงาน ฉะนั้นจึงต้องจ่ายค่าปรับให้กับอุตสาหกรรมจังหวัด

        ด้านนายสุทัศน์ ปัทมศิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ทั้ง 2 โรง กฟผ.ได้ยื่นขอใบอนุญาต รง.4 ตั้งแต่ปี 2554 ถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับใบอนุญาต แต่ยังไม่กังวลมากเพราะโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะเข้าระบบในปีหน้า ยังพอมีเวลา และมั่นใจว่าโครงการโรงไฟฟ้าที่พัฒนาโดย กฟผ.เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะประเด็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม"กฟผ.ไม่ได้เตรียมแผนสำรองไว้ หากว่าโรงไฟฟ้าทั้ง 2 โรงยังไม่ได้ใบอนุญาต เพราะเชื่อว่าต้องผ่าน แต่หากกระทรวงอุตฯเห็นว่าโครงการมีจุดบกพร่อง ขอให้แจ้งมาที่ กฟผ. พร้อมที่จะแก้ไข มองว่าการเข้มงวดการก่อสร้างโรงงานในประเทศเป็นเรื่องที่ดี และพร้อมปฏิบัติ ช่วงนี้ กฟผ.ก็ยังดำเนินการก่อสร้างทั้ง 2 โรงต่อไป และทำคู่ขนานไปกับการขอใบอนุญาต รง.4"

        ขณะที่นายกวิน ทังสุพานิช เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) เปิดเผยว่า ในเมื่อผู้ผลิตไฟฟ้าได้รับความล่าช้าจากขั้นตอนการขอใบอนุญาต รง.4 ซึ่งเป็นเหตุผลที่ถือว่าไม่ได้ทำความผิดตามที่สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระบุไว้ ต้องพิจารณาเป็นรายโครงการก่อนที่จะมีการยกเลิกสัญญา รวมถึงอาจจะมีการเลื่อน COD ออกไปให้ประมาณ 6 เดือน หรือมากกว่านั้น ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาร่วมกับกระทรวงพลังงาน

        ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า วันที่ 13 กุมภาพันธ์นี้ กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะจัดสัมมนาเชิงชี้แจงให้กับผู้ประกอบการในประเด็นที่ว่า ทำอย่างไรจึงจะผ่านขั้นตอนการพิจารณาใบอนุญาต รง.4 เพื่อให้มีความเข้าใจมากขึ้นตามมาตรฐานที่คณะกรรมการกลั่นกรองกำหนด นับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดชี้แจงหลังมีการแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรอง แหล่งข่าวจากวงการโรงสีข้าวเปิดเผยในทำนองเดียวกันว่า ขณะนี้ในกลุ่มโรงสีข้าวมีโรงสีที่ทำธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนประเภทชีวมวล 20 โรงยังไม่ได้ใบอนุญาต รง.4 เช่นเดียวกันทั้งที่หลายแห่งได้รับการอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว แต่ละแห่งลงทุนเฉลี่ย 600-1,000 ล้านบาท/โรง ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะไม่มีการติดต่ออะไรทั้งสิ้น ว่าติดขัดปัญหาอะไรทั้งที่การตั้งโรงงานมีผลดีต่อประเทศชาติ เกิดการจ้างงาน การลงทุน และเสียภาษีให้กับรัฐปีละหลายร้อยล้านบาท

กุมภาพันธ์  2556
http://www.prachachat.net

Copyright © 2011 Energy For Environment Foundation. All right reserved.
812/66 ซอยประชาชื่น 26 ถนนประชาชื่น แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800
โทรศัพท์ +66 2115 5895  E-mail : jutamas.efe@gmail.com