มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม มพส

ข่าวสารและกิจกรรม

ข่าวทั่วไป

บทความ

ข่าวทั่วไป

สนไหม? แปลงหลังคาเป็นเงิน โรงไฟฟ้าบนหลังคา พลังงานทางเลือก 8 ปีคืนทุน อีก17 ปีโกยกำไร !!

     เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยดำรงสถานะผู้นำเข้าพลังงานเป็น ส่วนใหญ่ ไม่ใช่ผู้ผลิตพลังงานเป็นหลัก โดยเฉพาะพลังงานในรูปของน้ำมัน ดังนั้น จึงต้องขยับตัวเคลื่อนไหวตลอดเพื่อรับมือกับการเผชิญหน้าสถานการณ์ วิกฤตพลังงานŽ อยู่เสมอ สำหรับปีนี้ ประเทศไทยต้องแก้ปัญหาเรื่องพลังงานที่ส่งผลกระทบกับคนค่อนประเทศมาแล้ว 2 ครั้ง

    ครั้งแรก ต้นเดือนเมษายน มีการเตือนแจ้งให้รับทราบตั้งแต่เนิ่นๆ ว่า แหล่งผลิตก๊าซของพม่าถึงคราวต้องปิดซ่อมบำรุงครั้งใหญ่   ก๊าซธรรมชาติที่ไทยต้องควักเงินซื้อจากพม่า คิดเป็น 1 ใน 3 ของการผลิตทั้งระบบของประเทศจะหายวับทันที
     ครั้งที่สอง เกิดกระแสไฟใน 14 จังหวัดภาคใต้ดับลง สาเหตุมาจากอุบัติเหตุสายส่งเกิดขัดข้อง คนใต้ส่วนหนึ่งต้องใช้แสงสว่างจากไส้เทียนมองหน้ากัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งของสาเหตุไฟดับ เนื่องจากภาคใต้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ได้เพียงพอ ต้องพึ่งพิงไฟฟ้าจากภาคกลาง ทั้ง 2 เหตุเป็นการเผชิญความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางพลังงาน ประกอบกับก๊าซฯในอ่าวไทยที่เคยคิดว่ามีเหลือใช้กำลังนับถอยหลังหมดลง การมุ่งหาพลังงานหมุนเวียนจึงเป็นทางเลือกที่จำเป็น เป็นตัวเลือกที่ตอบได้เลยว่า ใช่
      หนึ่งในพลังงานหมุนเวียนที่เหมาะกับไทยอย่างมาก คือ พลังงานจากแสงอาทิตย์ที่สาดส่องแต่ละวันอย่างแข็งขัน ไม่ว่าฤดูไหนก็ตาม น่าจะเป็นทางเลือกการเพิ่มปริมาณสำรองประเทศได้เป็นอย่างดี โดยมีกระทรวงพลังงานเป็นผู้สนับสนุน เอกชนหลายรายที่สนใจต่างก็วิ่งเข้าสู่ถนนสายเดียวกันเพื่อทำธุรกิจนี้ แต่ใช่ว่าการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์แบบเรียงรายยกระดับจากพื้นดินลักษณะโล่งกว้าง หรือโซลาร์ กราวด์ จะใช่คำตอบของการใช้ประโยชน์จากแสงอาทิตย์ทั้งหมด เพราะทางเลือกการผลิตไฟฟ้าโดยติดแผงโซลาร์บนหลังคาบ้าน หรือ โซลาร์ รูฟ (solar roof) เป็นอีกประเด็นที่ประชาชนและเอ็นจีโอจำนวนหนึ่งเรียกร้องต้องการ โซลาร์ รูฟ เป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย ประชาชนในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วนิยมติดบนหลังคาบ้าน เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง แนวคิดนี้ยังได้รับการตอบสนองอย่างจริงจังจาก พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ล่าสุด เสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาเพื่อผลักดันโครงการนี้ให้เดินหน้าอย่างจริงจังภายใต้แรงสนับสนุนจากรัฐบาล"รัฐบาลจะสนับสนุนให้บ้านเรือน และอาคารธุรกิจ ติดแผงโซลาร์ รูฟ เพื่อใช้เองและนำส่วนที่เหลือขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบผ่านการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตั้งเป้าผลิตไฟฟ้า 200 เมกะวัตต์"Ž รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอธิบาย นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงการสนับสนุนอัตราขายไฟฟ้าคร่าวๆ ว่า จะแบ่งการผลิตดังนี้ ประเภทบ้านพักอาศัย ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขนาดไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ เมื่อผลิตเกินความต้องการใช้ภายในบ้าน รัฐบาลรับซื้อในอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่รวมค่าไฟฐาน หรือฟีดอินทารีฟ ที่ 6.96 บาทต่อหน่วย ส่วนประเภทธุรกิจขนาดเล็ก ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ระหว่าง 10-250 กิโลวัตต์ รับซื้ออัตรา 6.55บาทต่อหน่วย และธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ ติดตั้ง 250 กิโลวัตต์ขึ้นไป รับซื้อ 6.16 บาทต่อหน่วย อัตรานี้จะเป็นเงื่อนไขในปีนี้ และปี 2557จากนั้นจะค่อยๆ ปรับลดการพิจารณาปีต่อปี เพราะคาดว่าต้นทุนราคาผลิตจะถูกลงเมื่อได้รับความนิยมŽนโยบายโซลาร์ รูฟ ยังมาพร้อมกับแพคเกจกระตุ้นความสนใจของประชาชน อาทิ นโยบายด้านภาษี ส่วนความกังวลเรื่องขั้นตอนการขออนุญาตติดตั้งได้รับการยืนยันจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมแล้วว่า ไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการ หรือ รง.4 รับทราบนโยบายในภาพรวมไปแล้ว ลองมาทำความรู้จักผลิตภัณฑ์ ชุดอุปกรณ์ติดตั้งโซลาร์ รูฟŽ จากเอกชน ที่ถือเป็นผู้ผลิตรายแรกๆ กระโจนเข้าสู่ธุรกิจนี้
     วันดี กุญชรยาคง ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทแม่ของ บริษัท โซลาร์ เพาเวอร์ รูฟ จำกัด หรือเอสพีอาร์ กล่าวว่า เอสพีอาร์คือผู้พัฒนาระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาแห่งเดียวของไทย และเป็นแห่งแรกของภูมิภาคอาเซียน
ผู้บริหารอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมว่า เป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน วัสดุหลักคือ แผงโซลาร์ และมิเตอร์ไฟที่จะใช้แบบ Time of use หรือทีโอยู เป็นมิเตอร์เฉพาะ คำนวณค่าไฟแบบ 2 ช่วงเวลา คือ กลางวันคิดราคา 6.20 บาทต่อหน่วย กลางคืน 3 บาทต่อหน่วย"กลางวันเมื่อผลิตไฟฟ้าได้ก็ใช้ภายในบ้าน แต่ถ้าเหลือใช้ก็ขายคืนให้กับการไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตามพื้นที่ตั้งของบ้าน ในอัตรา 6.96 บาทต่อหน่วย แต่ไฟที่ผลิตได้ยังไม่สามารถเก็บไว้ใช้กลางคืนได้ เพราะอยู่ระหว่างพัฒนาแบตเตอรี่สำรอง ปัจจุบันราคาแพงมาก"Ž
      บิ๊กเอสพีซีจียังกล่าวต่อว่า ชุดติดตั้งดังกล่าวสามารถติดตั้งบนหลังคาบ้านทุกจุดของประเทศ เหมาะกับบ้าน โรงงาน  หรือโรงแรมที่ใช้ไฟช่วงกลางวันมากๆ หากสกปรกสามารถทำความสะอาดได้ทันที สำหรับผลิตภัณฑ์ของบริษัท เริ่มทำตลาดตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เน้นเจาะตลาดบ้านระดับกลางถึงระดับบนเป็นหลัก"บ้านระดับกลางจะใช้ไฟฟ้าประมาณ 5,000 บาทต่อเดือน เหมาะกับการติดตั้งโซลาร์ รูฟ กำลังการผลิต 3.8 กิโลวัตต์ ใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมด บนพื้นที่หลังคา 20-25 ตารางเมตร หรือจำนวนแผงโซลาร์ 16 แผง (แผงละ 240 วัตต์) ราคาติดตั้ง 300,000 บาท ระยะเวลาคืนทุน 8 ปี อายุใช้งาน 25 ปี บริษัทจะรับประกันตลอดอายุการใช้งาน ดังนั้น เวลาคุ้มทุน 8 ปี จึงคุ้มค่า เพราะอีก 17ปีที่เหลือคือกำไรŽ"
      วันดียังขยายความถึงเวลาคุ้มทุน 8 ปี ว่า เป็นการคำนวณจากทีมที่ปรึกษาบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านโซลาร์ รูฟ เมื่อนำมาประยุกต์กับไทยก็ใช้อัตราการใช้ไฟที่เพิ่มขึ้น 3% ต่อปี จึงคำนวณออกมาได้ 8 ปี ขณะนี้มีคนดังที่สนใจติดโซลาร์ รูฟ แล้วหลายราย อาทิ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
เมื่อบทบาทของพลังงานสะอาดได้รับการผลักดันอย่างเต็มที่ ถึงคราวที่คนไทยต้องปรับตัว ไม่ใช่อยู่ในฐานะ ผู้ใช้Ž กดสวิตช์เพื่อใช้ไฟอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ต้องอยู่ในบทบาท ผู้ผลิตŽ ด้วย เมื่อกระแสไฟเหลือในระบบก็ขายไฟคืนทางการหากร่วมกันทำ รับผิดชอบกันคนละฝ่ามือ เพียงเท่านี้ คำว่า วิกฤตŽ ก็จะไม่เข้ามาข้องแวะอีกต่อไป


17  กรกฎาคม  2556

http://www.matichon.co.th


Copyright © 2011 Energy For Environment Foundation. All right reserved.
812/66 ซอยประชาชื่น 26 ถนนประชาชื่น แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800
โทรศัพท์ +66 2115 5895  E-mail : jutamas.efe@gmail.com