มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม มพส

ข่าวสารและกิจกรรม

ข่าวทั่วไป

บทความ

ข่าวทั่วไป

หวั่นพลังงานทดแทนสะดุด ลุ้นรัฐบาลใหม่สานฝันโครงการต่อลมหายใจชาติ

     ก.พลังงาน ห่วงปีนี้การพัฒนาพลังงานทดแทนสะดุด หากปัญหาการเมืองยืดเยื้อ ด้าน PEA วางแผนจ่ายไฟต่อเนื่อง เชื่อมั่นไม่ถูกตัดไฟ 13 ม.ค.นี้ ขณะที่ ปตท.สำรองน้ำมันรับมือม็อบ กปปส. ชัตดาวน์ กทม.

     นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า นโยบายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของพลังงานทดแทน ทั้งในเรื่องของโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา หรือโซลาร์ พีวี รูฟท็อป, การพิจารณาทบทวนค่าไฟฟ้าส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน โดยให้ปรับเป็นค่าสนับสนุนเงินตามการลงทุนที่แท้จริง (Feed in Tariff : FIT) ที่ต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นเรื่องนโยบายที่ต้องรอรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาตัดสินใจ

     ทั้งนี้ค่าไฟฟ้าในส่วน FIT ที่มีการปรับปรุงทบทวนใหม่จะจูงใจให้เกิดการลงทุนในเรื่องของพลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ซึ่งจากที่สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สน.พ.) สรุปผลการศึกษาออกมานั้น เน้นการผลิตไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กถึงระดับชุมชน ใน 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดไม่เกิน 300 กิโลวัตต์ กลุ่มโรงไฟฟ้าขนาด 300-1000 กิโลวัตต์ กลุ่มโรงไฟฟ้าขนาด 1-3 เมกะวัตต์ และกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาด 3-10 เมกะวัตต์ ซึ่งมีการกำหนดโครงสร้างราคา FIT เป็น 2 ส่วน ได้แก่ อัตรา FIT ส่วนคงที่ ซึ่งจะคิดจากต้นทุนโรงไฟฟ้าโดยตรง และอัตรา FIT ส่วนแปรผัน ซึ่งจะปรับเปลี่ยนได้ตามต้นทุนเชื้อเพลิงชีวมวล โดยได้ศึกษาเชื้อเพลิงในรูปเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในรูปแบบต่างๆ และทำการกำหนดราคาชีวมวลที่เหมาะสม โดยมีอัตรารับซื้อไฟฟ้า FIT สำหรับชีวมวล จะอยู่ในช่วง 3.78 ถึง 5.41 บาท/หน่วย

     นายสุเทพ กล่าวว่า ในส่วนการกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้า FIT จากขยะนั้น มุ่งเน้นไปที่ระบบจัดการขยะแบบผสมผสาน โดย อัตรารับซื้อไฟฟ้า FIT สำหรับขยะ จะอยู่ในช่วง 4.69-6.32 บาท/หน่วย และในส่วนของอัตราการรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FIT สำหรับโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากหญ้าเนเปียร์ที่เดิม อยู่ที่ 4.50 บาท/หน่วย จะมีการปรับ เพิ่มขึ้นเป็น 4.90 บาท/หน่วย

     สำหรับข้อมูลการพัฒนาพลังงานทดแทน นั้น ในปี 2556 ที่ผ่านมา มีสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนต่อการใช้พลังงานของประเทศอยู่ที่ 10.9% เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 9.9% โดยส่วนใหญ่เป็นการผลิตไฟฟ้าและการผลิตความร้อนจากชีวมวล ซึ่งในปี 2556 มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนทั้งสิ้น 3,503 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่มีปริมาณ 2,633 เมกะวัตต์ โดยเป็นไฟฟ้าจากชีวมวลทั้งสิ้น 2,230 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่มีการผลิตจำนวน 1,956 เมกะวัตต์ รองลงมาคือไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 635 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่มีจำนวน 250 เมกะวัตต์ ส่วนการผลิตความร้อนจากพลังงานทดแทน อยู่ที่ 5,335 KTOE เพิ่มขึ้นจากปี 2555 อยู่ที่ 4,885 KTOE

     นายนำชัย หล่อวัฒนตระกูล ผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) กล่าวว่า ได้เตรียมการรับการชุมนุมใหญ่ 13 ม.ค.นี้ โดยในส่วนสำนักงานใหญ่ งามวงศ์วาน ไม่ได้ปิดทำการ แต่ได้วางแผนในส่วนของพนักงานที่สามารถทำงานที่บ้านได้ หรือไปทำงานในพื้นที่สำรอง ไม่ต้องเดินทางเข้าสำนักงานใหญ่ แต่ในส่วนของพนักงานที่ต้องมาทำงานต่อเนื่อง เช่น ศูนย์สั่งการไฟฟ้า ให้เข้ามาทำงานตามปกติ พร้อมเพิ่มการรักษาความปลอดภัยเต็มที่ ซึ่งเชื่อว่าผู้ชุมนุมไม่เข้ามาตัดไฟฟ้าในส่วนนี้ เพราะ PEA ไม่ใช่เป้าหมาย และการตัดไฟฟ้าจะสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน อย่างไรก็ตาม ทาง PEA ได้เตรียมรถปั่นไฟฟ้าไว้ หากเกิดปัญหาการตัดไฟฟ้าจริงๆ

     นอกจากนี้ยังเตรียมแผนในการดูแลสั่งจ่ายไฟฟ้าในพื้นที่สำรองไว้แล้ว ตามศูนย์ควบคุมไฟฟ้าในจังหวัดต่างๆ ดังนั้น การจ่ายไฟฟ้าจะไม่มีปัญหา รวมทั้งการดูแลการออกบิลการชำระค่าไฟฟ้ายังสามารถดำเนินการได้ตามปกติ ในขณะเดียวกันทาง PEA ยังให้ความร่วมมือกับทางการไฟฟ้านครหลวงส่งรถปั่นไฟฟ้า จำนวน 20 คัน มาช่วยผลิตไฟฟ้าหากเกิดปัญหาผู้ชุมนุมตัดไฟฟ้าในสถานที่ต่างๆ อีกด้วย

     ส่วนการใช้เชื้อเพลิงจากชีวภาพ จากพลังงานทดแทน อยู่ที่ 5.31 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี2555 ซึ่งมีปริมาณ 3.83 ล้านลิตรต่อวัน โดยแบ่งเป็นเอทานอล อยู่ที่ 2.53 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่อยู่ที่ 1.29 ล้านลิตรต่อวัน และไบโอดีเซล อยู่ที่ 2.78 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่มีปริมาณ 2.54 ล้านลิตรต่อวัน

     นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ได้สั่งให้สถานีบริการน้ำมันและคลังน้ำมันเพิ่มสำรองน้ำมันเต็มกำลังในช่วง ชัตดาวน์กรุงเทพฯ ของกลุ่ม กปปส. พร้อมประสานงานกับ ศอ.รส. อย่างใกล้ชิดก่อนส่งน้ำมันเข้าพื้นที่เสี่ยง เพื่อความปลอดภัย ขณะที่นายสมนึก บำรุงสาลี อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ได้ประสานงานกับผู้ค้าน้ำมันแอลพีจีและเอ็นจีวี ซึ่งมีสถานีในรัศมี 2 กิโลเมตรของ 7 จุดที่มีการชุมนุมใหญ่ โดยให้จัดทำแผนรักษาความปลอดภัยและให้มีพลังงานเพียงพอต่อความต้องการ และยืนยันว่ายังไม่มีการปิดสถานีใดๆ ทั้งสิ้น
 

13  มกราคม  2557

http://www.banmuang.co.th

Copyright © 2011 Energy For Environment Foundation. All right reserved.
812/66 ซอยประชาชื่น 26 ถนนประชาชื่น แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800
โทรศัพท์ +66 2115 5895  E-mail : jutamas.efe@gmail.com