มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม มพส

ข่าวสารและกิจกรรม

ข่าวทั่วไป

บทความ

ข่าวทั่วไป

เปิดตัว “กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน” เสนอ 6 ข้อปฏิรูปพลังงานยั่งยืน

      เปิดตัว “กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน” เครือข่ายบุคคลที่มีประสบการณ์ตรงด้านพลังงาน พร้อมข้อเสนอหลัก 6 ข้อ นำประเทศหาทางออกสู่แนวทางปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน             
 
     วันนี้(12 พ.ค.) เวลา 10.00 น. นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แถลงข่าวเปิดตัว  กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืนซึ่งเกิดจากการรวมตัวของบุคคลที่มาจากหลากหลายอาชีพที่มีความรู้ด้านพลังงาน โดยการแถลงข่าวครั้งนี้ มี ดร. ทวารัฐ สูตะบุตร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน นายมนูญ ศิริวรรณ อดีตผู้บริหารบางจาก นายบรรยง พงษ์พานิช ปธ. กรรมการหลักทรัพย์ภัทร  ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ ผอ. สถาบันปิโตรเลียม ร่วมแถลงข่าวด้วย ภาคพลังงานไทยถือว่าได้พัฒนาก้าวหน้าไปมากในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ดังจะเห็นได้ว่าสาขาพลังงานของไทยถูกจัดอันดับเป็นที่ 3ของเอเซียตะวันออก และที่ 1 ของอาเซียน ตาม Energy Architecture Performance Index ของ World Economic Forum อย่างไรก็ตามก็ยังมีปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขและปฏิรูปโดยเร็ว โดยเฉพาะเราไม่ได้มีแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบมากมาย แม้ว่าการผลิตพลังงานในประเทศไทยเพิ่มขึ้นมากแต่การใช้พลังงานของไทยก็เพิ่มขึ้นมากเช่นกัน จึงต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศมากกว่าครึ่งหนึ่งของการใช้ และมีแนวโน้มว่าเราจะต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในต้นทุนที่สูงกว่าที่ผลิตในประเทศมาก ซึ่งจะมีผลต่อต้นทุนพลังงานโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่เป็นปัจจัยหลักในการผลิตและค่าครองชีพของประชาชน อีกทั้งในปัจจุบันการควบคุมดูแลกิจการพลังงานของรัฐก็มีความเสี่ยงของการมีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างผู้กำหนดนโยบาย ผู้กำกับดูแล และฝ่ายปฏิบัติ ทำให้เกิดภาวะการแทรกแซงโดยมิชอบอยู่บ่อยครั้ง “กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน” จึงเสนอแนวทางปฏิรูปที่มีความยั่งยืน เพราะเราเห็นจากเหตุการณ์ในอดีตหลายครั้งที่นโยบายประชานิยม ทั้งในด้านพลังงานและสาขาอื่นๆในหลายประเทศ ที่ในช่วงแรกอาจสร้างความพอใจของประชาชน แต่ในที่สุดก็ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างจนถึงขั้นเศรษฐกิจเกือบล่มสลาย ดังนี้
(1) ปรับโครงสร้างราคาพลังงานประเภทต่างๆให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เพื่อให้เกิดการใช้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้พลังงานกลุ่มต่างๆ โดยหลีกเลี่ยงการใช้ราคาพลังงานเป็นเครื่องมือในการให้สวัสดิการสังคมแก่ประชาชน ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องมีการอุดหนุนราคาพลังงาน ควรทำเท่าที่จำเป็นเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย โดยไม่ให้กระทบต่อกลไกตลาด และมีกรอบการใช้เงินที่ชัดเจน
(2) เพิ่มการแข่งขันและประสิทธิภาพในธุรกิจพลังงาน เพื่อมิให้มีการเอาเปรียบผู้บริโภค โดยให้กิจการที่มีการแข่งขันของรัฐวิสาหกิจเข้ามาอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า และให้ บมจ.ปตท.ขายหุ้นทั้งหมดในโรงกลั่นบางจากและโรงกลั่น SPRC ส่วนในกรณีกิจการท่อก๊าซธรรมชาติ ให้แยกออกจาก บมจ.ปตท.เพื่อความโปร่งใสและง่ายแก่การกำกับดูแล และเปิดให้มีการให้บริการใช้ท่อก๊าซธรรมชาติแก่บุคคลที่สาม เพื่อให้ผู้ใช้มีทางเลือก
(3) ลดการแทรกแซงโดยมิชอบและแสวงหาประโยชน์ในกิจการพลังงานที่รัฐถือหุ้น และการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดย (1) แยกการกำกับดูแล การกำหนดนโยบาย และการดูแลผลประโยชน์ของรัฐในฐานะของผู้ถือหุ้นออกจากกันอย่างชัดเจน (2) ปรับปรุงระบบการสรรหาและแต่งตั้งกรรมการในบริษัทที่รัฐถือหุ้นให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลของบริษัทชั้นนำของโลก มีความโปร่งใส และให้ประชาชนสามารถรับรู้ได้ (3) ข้าราชการที่ไปเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจหรือกรรมการในบริษัทมหาชนที่รัฐถือหุ้น ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติหน้าที่ หากมีผลตอบแทนส่วนที่เกินสมควรให้นำส่งคลัง (4) เมื่อแยกกิจการท่อส่งก๊าซธรรมชาติออกไปจาก บมจ.ปตท.แล้ว ให้ลดการถือหุ้นของรัฐใน บมจ.ปตท.ให้ต่ำกว่า 50% และพ้นสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อลดการแทรกแซงจากภายนอก เพิ่มความคล่องตัวและประสิทธิภาพ
(4) ปรับปรุงกระบวนการในการกำหนดนโยบาย และการขออนุญาต โดยตั้งสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานแบบ EIA ของสหรัฐฯ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลที่ถูกต้องและทำหน้าที่ในการเผยแพร่ที่สมบูรณ์ และเป็นที่ยอมรับ รวมทั้งแก้ไขกฏระเบียบ และกฏหมายที่มีความซ้ำซ้อน เพื่อแก้ปัญหาความล่าช้าในการขออนุญาตในกิจกรรมที่เกี่ยวกับพลังงาน และเป็นแหล่งแสวงหาผลประโยชน์ที่มิชอบทางการเมือง
(5) สำรวจ พัฒนาและจัดหาแหล่งพลังงาน โดย (1) เพื่อสร้างความมั่นใจในข้อมูลและความโปร่งใส ควรให้ประเทศไทยสมัครเป็นสมาชิกของโครงการเพื่อความโปร่งใสในภาคอุตสาหกรรมการสกัดทรัพยากร (Extractive Industries Transparency Initiative: EITI) (2) ตั้งคณะกรรมการที่มีผู้แทนจากทุกฝ่ายเพื่อพิจารณาความเหมาะสมของการปรับปรุงระบบการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในปัจจุบัน ให้ได้ข้อยุติใน 3 เดือน และเดินหน้าเปิดพื้นที่สำรวจและพัฒนาปิโตรเลียม (3) นำพื้นที่ในภาคเหนือที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงกลาโหมเข้ามาอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม (4) เร่งพิจารณาแนวทางในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมสำหรับสัมปทานในพื้นที่ผลิตที่ไม่สามารถต่อระยะเวลาได้อีก เพื่อให้ได้ข้อยุติอย่างน้อย 5 ปีก่อนการสิ้นสัมปทาน (5) ให้กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน และคณะกรรมาธิการร่วมของรัฐสภา ร่วมกันวางแนวทางและมอบหมายให้มีคณะเจรจาเพื่อเจรจาหาข้อยุติกับกัมพูชา ในการเข้าไปสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาในทะเล
(6) ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด โดย (1) แก้ไขกฏกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน ให้การผลิตไฟฟ้าเป็นโรงงานจำพวกที่ 1 เพราะต้องขออนุญาตจาก คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานอยู่แล้ว และยุบเลิกคณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ส่วนโครงการ SPP/VSPP ด้านพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ยังค้างการพิจารณาอยู่ให้เจรจาปรับเงื่อนไขและราคารับซื้อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดในปัจจุบัน และปฏิบัติต่อผู้ลงทุนทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน (2) แก้ไขพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเพื่อให้สามารถเร่งกำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพการใช้พลังงานขั้นต่ำของเครื่องจักร อุปกรณ์ และอาคาร ให้มีความเข้มข้นมากขึ้น (3) จัดทำแผนในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ และการจัดหาพลังงานเพื่อใช้ในยานยนต์ อย่างเป็นระบบ
 
      ข้อเสนอนี้เป็นข้อเสนอเพื่อให้รัฐบาลนำไปพิจารณาปฏิบัติ ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล โดยในขั้นแรกรัฐจะต้องเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักวิชาการ ส่วนราชการ ผู้ประกอบการด้านพลังงาน ผู้ใช้พลังงาน และภาคประชาชน ทั้งนี้ต้องสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตร โดยผู้ร่วมแสดงความเห็นต้องเปิดใจฟังความเห็นของผู้อื่น การปฏิรูปพลังงานที่ยั่งยืน (www.energyreform.in.th) ไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ยอมฟังความเห็นที่แตกต่างกัน แต่กลับใส่ร้ายป้ายสีผู้ที่คิดต่าง


ทั้งนี้ 32 รายชื่อกลุ่ม“กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน”(ณ 11 พ.ค. 57)
1.นางกรรณิการ์ ศรีธัญญลักษณา        อดีตข้าราชการกระทรวงพลังงาน
2.นายกวี จงคงคาวุฒิ                       อดีตข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
3.นางสาวกฤติยา เพ็ชรศรี                 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
4.นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร         ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด
5.ดร.คุรุจิต นาครทรรพ                     รองปลัดกระทรวงพลังงาน
6.นายชยุตพงศ์ นันท์ธนะวานิช          กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
7.นายชาย ชีวะเกตุ                          อดีตผู้บริหาร กฟผ.และกรรมการมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม
8.ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร                       รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
9.คุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต               อดีตผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
10.ดร.เทียนไชย จงพีร์เพียร                นักวิชาการพลังงาน
11.นางสาวเนตรนฤมล ศิริมณฑล         อดีตผู้ช่วยผู้อำนวยการ UNDP ประเทศไทย
12.นายบรรยง พงษ์พานิช                   ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน)
13.ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์               อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
14.นางปรียาภรณ์ วิเวกาภิรัต              อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน/รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน
15นางสาวพนิดา อมรศักดิ์                 รักษาการผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม
16.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์                    คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
17นายมณฑล วสุวานิช                     อดีตข้าราชการกระทรวงพลังงาน
18 นายมนู เลียวไพโรจน์                    อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
19 นายมนูญ ศิริวรรณ                       อดีตผู้บริหาร บมจ.บางจาก
20 นายเมตตา บันเทิงสุข                    อดีตผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน/ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน
21.ดร.ยรรยง ไทยเจริญ                      ธนาคารแห่งประเทศไทย
22.นางสาววิไลพร ลิ่วเกษมศานต์         อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
23.ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์                      ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
24.นางสาวสุจิตร เข็มมี                      กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
25.นายสิริวัต วิทูรกิจวานิช                วิศวกรปิโตรเลียม บมจ.ปตท.สผ.
26.ดร.สุวิทย์  เมษินทรีย์                     ผู้อำนวยการสถาบัน Sasin Institute for Global Affairs (SIGA)
27.นางสาวสุวพร ศิริคุณ                     อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
28.รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน                 อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
29.นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ               อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท.สผ.และ PTTGC
30.นายอนันต์ เกษเกษมสุข               อดีตผู้บริหาร บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย
31.นายอนุชิต  ลิ้มสุวัฒน์                    กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
32.นางอานิก อัมระนันทน์                  อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร

12 พฤษภาคม 2557

http://www.thanonline.com



Copyright © 2011 Energy For Environment Foundation. All right reserved.
812/66 ซอยประชาชื่น 26 ถนนประชาชื่น แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800
โทรศัพท์ +66 2115 5895  E-mail : jutamas.efe@gmail.com