มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม มพส

ข่าวสารและกิจกรรม

ข่าวทั่วไป

บทความ

ข่าวทั่วไป

เพิ่งตื่นสางเผือกร้อน รง.4 ลดทุกขั้นตอนเร่งแก้ปัญหา

      ในที่สุดปัญหาใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือ “ใบรง.4” ที่นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศร้องเรียนถึงความล่าช้า แถมยังถูกตราหน้าเป็นตัวถ่วงการลงทุน ขณะที่นักลงทุนบางรายอ้างว่า ต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะ ถึงจะได้ใบอนุญาตเร็วขึ้น ก็ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช. หยิบขึ้นมาแก้ปัญหาในอันดับแรกของกระทรวงอุตสาหกรรมทีเดียว!

      “พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง” ผบ.ทอ. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. ได้สั่งการชัดเจนให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมต้องออกใบอนุญาต รง.4 ให้ผู้ประกอบการให้ได้ภายใน 30 วัน ภายในวันที่ 1 ก.ค.นี้ ซึ่งจากเดิมกระบวนการขั้นตอนในการออกใบอนุญาตนี้ต้องใช้เวลานานถึง  3 เดือนทีเดียว และแม้ว่าได้ลดลงมาเหลือเพียง 45 วันแล้วก็ตาม ไม่เพียงเท่านี้ยังสั่งการให้ปรับกระบวนการอนุญาต พร้อมตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการและนักลงทุน เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับเอกสารการจัดทำผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม

      ย้อนปัญหาการออกใบอนุญาต รง.4 ที่ผ่านมา เริ่มขึ้นในปี 55 สมัยที่ “ม.ร.ว. พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์” นั่งเก้าอี้ รมว.อุตสาหกรรม สังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา ได้ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพ ชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ทำหน้าที่กลั่นกรองโรงงานต่างก่อนอนุมัติใบ รง.4 โดยให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นการตรวจสอบโรงงานที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เข้มข้นขึ้น จากเดิมเป็นหน้าที่ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น ส่งผลให้เกิดปัญหาขึ้นทันที

      จากเดิมที่ผู้ประกอบการต้องขออนุญาตกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมแห่งเดียว กลายเป็นว่า ต้องรอจากคณะกรรมการกลั่นกรองฯ อีกชั้น ซึ่งผู้ประกอบการมองว่า เป็นเรื่องที่ซ้ำซ้อน ที่สำคัญยังต้องใช้เวลานาน เพราะหากเอกสารไม่ครบก็ต้องรอที่ประชุมคณะกรรมการชุดนี้พิจารณา ซึ่งต้องใช้เวลานานนับเดือน ปัญหานี้ได้ทำให้บรรดาคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

      และสมาคมธนาคารไทย ต้องออกโรง... ร่อนหนังสือด่วนถึง “ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์” ขอให้ยกเลิกคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ทันที เพราะเป็นอุปสรรคสำหรับภาคเอกชนอย่างมาก กว่าจะได้ใบอนุญาตต้องใช้เวลานานมาก แต่กระทรวงอุตสาหกรรมยังยืนกรานการใช้แนวทางคณะกรรมการกลั่นกรองฯ เหมือนเดิม

      ปัญหานี้มาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือ การร้องเรียนจากฝั่งผู้ประกอบการธุรกิจพลัง งาน โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ติดโครงการโรงไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านที่ อยู่อาศัย (โซลาร์รูฟท็อป) ที่ติดปัญหาการขอใบ รง.4 ล่าช้ามาก จนไม่สามารถติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปได้ จนกลายเป็นศึก 2 กระทรวง เพราะกระทรวงพลังงานระบุว่า มีพ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ไม่ต้องขอใบ รง.4 ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรม ยืนกรานว่า จะอย่างไรก็ต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ตีกันไปตีกันมา...ไร้ข้อสรุป!

      สุดท้าย! คสช. ต้องออกมาแก้ปัญหาโดยให้โซลาร์รูฟท็อป และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ขนาดไม่เกิน 1,000 กิโลวัตต์ ไม่ต้องขอใบ รง.4 ซึ่งทำให้บรรดาผู้บริหารกระทรวงอุตสาห กรรมเหมือนรู้ชะตากรรมตัวเอง เพราะก่อนหน้าที่ คสช.จะเดินทางมาตรวจเยี่ยมกระทรวงอุตสาหกรรมเพียง 3 วัน ก็ประกาศยกเลิกคณะกรรมการกลั่นกรองฯ เจ้าปัญหาทันที หลังดื้อด้านทำให้เกิดปัญหามากว่า 2 ปี โดยให้เหตุผลสั้น ๆ ว่า เพื่อลดขั้นตอนการขอใบอนุญาต !!!

      ขณะเดียวกันกรมโรงงานอุตสาหกรรม ก็ปรับลดขั้นตอนที่ล่าช้าให้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเตรียมเอกสาร ที่ตั้งบุคคลที่ 3 เข้ามาดูแลโดยเฉพาะ จากเดิมให้รวบรวมมายื่นที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ออกใบอนุญาตรับฟังความคิดเห็นจาก ชาวบ้านในพื้นที่ หากผู้ประกอบการมีเอกสารครบถ้วนตามเงื่อนไข จะให้มายื่นเอกสารได้ที่กรมโรงงานอุตสาห กรรม หรืออุตสาห กรรมจังหวัด เชื่อว่าขั้นตอนต่างที่ปรับใหม่ สามารถออกใบอนุญาตใบ รง.4 ได้ตามนโยบายของ คสช. โดยปัจจุบันยังมีโรงงานที่รอใบอนุญาต รง.4 ที่กรมฯ ประมาณ 200-300 ราย

      “ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์” อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม บอกว่า การปรับเปลี่ยนครั้งนี้ก็เพื่อให้รวดเร็วขึ้น แต่ขณะเดียวกันประชาชน ต้องได้รับการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้นด้วย เพราะฉะนั้นหากให้ใบอนุญาต รง.4 ไปแล้ว แต่โรงงานกลับทำผิดเงื่อนไข ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

      ในชุมชน กรมโรงงานอุตสาหกรรม สามารถสั่งปิดโรงงานชั่วคราว เพื่อให้ปรับปรุงแก้ไขได้ รวมทั้งหากเติร์ดปาร์ตี้ หรือบุคคลที่ 3 ดำเนินการบกพร่อง ก็สามารถสั่งปรับได้เช่นกัน และหากเติร์ดปาร์ตี้คิดค่าใช้จ่ายแพงเกินจริงก็สามารถมาขอใบอนุญาตกับ กรอ.ได้เหมือนเดิมเช่นกัน

      เมื่อปัญหาของ รง.4 ได้รับการแก้ไขปัญหาโดยเปลี่ยนเงื่อนไขทุกอย่างให้กระชับแล้ว ต้องจับตาต่อไปว่า ปัญหาความล่าช้า หรือเสียงร้องเรียนจากภาคเอกชนถึงการจ่ายเงินนอกระบบ ยังคงมีอยู่อีกหรือไม่ เพราะถ้าทุกอย่างยังเป็นปัญหาการร้องเรียนเดิม ๆ ก็เท่ากับว่า เกิดจากคนไม่ใช่จากระบบ... ถือเป็นการชี้ชะตาสำคัญของ “ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์” อธิบดี กรอ. คนปัจจุบัน และตำแหน่งของ “วิฑูรย์ สิมะโชคดี” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมคนปัจจุบัน ว่าจะอยู่จนครบวาระเกษียณในเดือน ก.ย. 57 นี้หรือไม่?.

จิตวดี เพ็งมาก

18 มิถุนายน 2557

http://www.dailynews.co.th

 


Copyright © 2011 Energy For Environment Foundation. All right reserved.
812/66 ซอยประชาชื่น 26 ถนนประชาชื่น แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800
โทรศัพท์ +66 2115 5895  E-mail : jutamas.efe@gmail.com