มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม มพส

ข่าวสารและกิจกรรม

ข่าวทั่วไป

บทความ

ข่าวทั่วไป

กระทรวงพลังงานเปิดแผนพลังงาน

      กรุงเทพฯ 4 มิ.ย. – กระทรวงพลังงานเดินหน้าแผนพลังงานประเทศ พร้อมส่งสัญญาณสร้างความมั่นใจนานาชาติและนักลงทุนทั่วโลก ชี้เป็นครั้งแรกบูรณาการแผนพัฒนาไฟฟ้า พลังงานทดแทน ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน และการอนุรักษ์พลังงานของไทย เพื่อสร้างความมั่นคงพลังงานไทยคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน

      นายทวารัฐ สูตะบุตร รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดสัมมนา กรอบแผนพลังงานประเทศไทยในภาพรวม “Thailand Integrated Energy Blueprint : TIEB” ซึ่งถือเป็นกิจกรรมใหญ่ภายในงาน Renewable Energy Asia 2015 จัดระหว่างวันที่ 3 – 5 มิถุนายน 2558 โดยการสัมมนาครั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้ใช้เป็นเวทีเพื่อประกาศถึงความพร้อมของการจัดทำกรอบแผน TIEB รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมสัมมนา อาทิ ผู้แทนจากสถานทูตทั่วโลกกว่า 40 ประเทศ นักลงทุนผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานที่เข้าร่วมกว่า 100 ราย รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน เป็นต้น

      นายทวารัฐ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานต้องการส่งสัญญาณไปยังระดับนานาชาติผ่านเวทีการจัดงาน Renewable Energy Asia 2015 ที่กระทรวงพลังงานได้ให้การสนับสนุนหลักครั้งนี้ เพื่อจะอธิบายความสำคัญและรายละเอียดต่างของกรอบแผนพลังงานในภาพรวม ซึ่งถือเป็นแผนบูรณาการพลังงานแห่งชาติที่กระทรวงพลังงานจัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศ โดยได้รวบรวมแผนพลังงานของประเทศทั้งหมดเข้าไว้ในแผนเดียว ได้แก่ แผนพัฒนาไฟฟ้า (PDP) , แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP), แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEDP) แผนก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และแผนน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) โดยภายใต้แผน TIEB นี้จะรรวบรวมบูรณาการทั้ง 5 แผนฯ ดังกล่าวเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อสร้างความมั่นคงและตอบสนองความต้องการพลังงานของประเทศ สอดคล้องกับการพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

      สำหรับรายละเอียดที่สำคัญ ๆ กรอบแผน TIEB ซึ่งกระทรวงพลังงานเชื่อว่าจะสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนและนักธุรกิจด้านพลังงานถึงการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของไทย รวมถึงเป็นประโยชน์ต่อประชาชนจากการจัดหาพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ต้นทุนพลังงานไม่แพงทำให้ประเทศสามารถแข่งขันได้ระดับสากล อาทิ PDP 2015 ซึ่งเน้นไปที่แนวคิดสร้างความสมดุลสูงสุด แบ่งออกเป็น 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ มิติด้านความมั่นคง มิติด้านสิ่งแวดล้อม และมิติด้านการส่งเสริมการแข่งขันทางธุรกิจ โดยแผนAEDP กระทรวงพลังงานกำหนดเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้งานของพลังงานทดแทนเป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ภายในปี 2564 และมีการปรับแผนเพื่อความยั่งยืนของการใช้พลังงานทดแทนเพื่อให้รักษาสัดส่วนการใช้งานดังกล่าวเอาไว้ให้ได้อย่างต่อเนื่องถึงปี 2579 ในส่วนของไฟฟ้าดำเนินการเสร็จขณะนี้ ประกอบด้วย การดำเนินงานที่สำคัญ ๆ ได้แก่ จัดลำดับความสำคัญด้วยการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ ชีวมวล และก๊าซชีวภาพให้ได้เต็มตามศักยภาพเป็นลำดับแรก เพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกับเกษตรกรและชุมชนในการแก้ไขปัญหาขยะล้นเมือง นอกจากนี้ กำหนดเป้าหมายการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนตามรายภูมิภาค โดยโซนนิ่งให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าและศักยภาพพลังงานหมุนเวียน ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์และ พลังงานลมในลำดับถัดไป เมื่อต้นทุนสามารถแข่งขันได้กับการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจี รวมถึงส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ด้วยวิธีการแข่งขันด้านราคา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค เป็นต้น

      แผนอนุรักษ์พลังงาน จะมุ่งไปยังกลุ่มเป้าหมายหลัก 4 กลุ่ม คือ อุตสาหกรรม อาคาร ที่อยู่อาศัย และภาครัฐ สำหรับกำหนดแนวทางการอนุรักษ์พลังงานที่สำคัญ ได้แก่ ยกเลิกหรือทบทวนการอุดหนุนราคาพลังงานเชื้อเพลิงชนิดต่าง ๆ โดยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด แนวทางใช้มาตรการทางภาษี ลดภาษี และใช้เงินกองทุนอนุรักษ์พลังงานสนับสนุนอุปกรณ์ที่มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การเร่งรัดการสนับสนุนมาตรการด้านการเงิน ด้วยเงินให้เปล่าและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำา เพื่อให้มีการเปลี่ยนอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และให้ค่าคำปรึกษาในการบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการกำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานในอาคารและโรงงาน โดยกระทรวงพลังงานประสานกับกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงมหาดไทย เพื่อผลักดันให้เป็นมาตรการบังคับ การกำหนดให้ผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าขนาดใหญ่ ต้องดำเนินมาตรการประหยัดพลังงานให้ลูกค้า รวมถึงเร่งรณรงค์ด้านพฤติกรรมและการปลูกจิตสานึกการใช้พลังงานให้เป็นวัฒนธรรมของชาติ เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย

4 มิถุนายน 2558

http://www.tnamcot.com


Copyright © 2011 Energy For Environment Foundation. All right reserved.
812/66 ซอยประชาชื่น 26 ถนนประชาชื่น แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800
โทรศัพท์ +66 2115 5895  E-mail : jutamas.efe@gmail.com