มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม มพส

ข่าวสารและกิจกรรม

ข่าวทั่วไป

บทความ

ข่าวทั่วไป

กระบวนการหาประโยชน์ต้นตอแผนพลังงานหมุนเวียนสะดุด
          การพัฒนาพลังงานทดแทนระยะ 10 ปี (2555-2564) ของกระทรวงพลังงานแม้จะเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายสนับสนุนแต่หนทางสู่เป้าหมายที่เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนให้ได้ 25% ในปี 2564 ไม่ง่าย หากแผนปฏิบัติการไม่สอดรับกับเป้าหมาย และไม่ได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน
 
          สุวพร ศิริคุณ ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม องค์กรกลางพัฒนาพลังงานหมุนเวียน กล่าวว่ากระทรวงพลังงานได้ปรับแผนการพัฒนาพลังงานทดแทน โดยเพิ่มสัดส่วนการใช้เป็น 25% ภายใน 10 ปีนั้น มองว่าแผนเป็นเพียงแค่เป้าหมาย แต่การผลักดันการปฏิบัติสู่ความจริงต่างหาก คือสิ่งสำคัญกว่าซึ่งการดำเนินตการจะเกิดขึ้นได้ตามแผนหรือไม่นั้นสามารถประเมินได้จากผลการดำเนินการที่ผ่านมาและส่งที่กระทรวงพลังงานจะดำเนินการในปี 2555
          ข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เมื่อสิ้นปี 2554 พบว่ามีไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้าสู่ระบบ 927 เมกะวัตต์ ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ถึง 71% และมีเพียงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และก๊าซชีวิภาพที่เข้าเป้าเท่านั้น
          หากมองไกลไปถึงโครงการที่อยู่ระหว่างยื่นขอใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้า จะพบว่ามีโครงการรอลงนาม รอพิจารณา และรอตอบรับสูงถึง 7,299 เมกะวัตต์ เป็นพลังงานแสดงอาทิตย์สูงถึง 3,532 เมกะวัตต์ เป็นที่มาที่กระทรวงพลังงานให้ข่าวมาตลอดว่าปริมาณไฟฟ้าในส่วนนี้จะกระทบค่าไฟฟ้าสูงถึง 15 สตางค์ต่อหน่วย และให้ชะลอการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลดส่วนเพิ่มรับซื้อไฟฟ้าหรือ adder
 
          สุวพร กล่าวต่อว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นที่มาให้เกิดการหาประโยชน์ด้วยการซื้อขายใบอนุญาตขายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อย่างที่เป็นอยู่ และแม้จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตั้งแต่ปี 2533 ซึ่งมีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน และ สนพ.เป็นฝ่ายเลขานุการปัญหานี้ก็ไม่ได้รับการแก้ไข
          "ความล่าช้าของการกลั่นกรองโครงการกว่า 7,000 เมกะวัตต์ ปริมาณไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เข้าสู่ระบบต่ำกว่าเป้าหมาย รวมถึงการปล่อยให้เกิดการหาประโยชน์การซื้อขายใบอนุญาต และความไม่โปร่งใสด้านการพิจารณา เป็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น จึงเรียกร้องให้กระทรวงพลังงานตรวจสอบและปรับปรุงการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ เพื่อให้แผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในภาพรวมปฏิบัติได้จริง"
          เธอย้ำว่าการที่กระทรวงพลังงานมีแผนที่จะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ให้ทบทวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นรูปแบบ Feed-in tariff ซึ่งเป็นการให้ส่วนเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าโดยใส่ในส่วนของค่าไฟฐาน ในขณะที่ระบบ Adder จะเพิ่มในส่วนของค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (FT) นั้นความจริงแล้วการปรับเปลี่ยนนโยบายไม่ใช่ปัญหาแต่ปัญหาอยู่ที่การปฏิบัติของกระทรวงพลังงานที่ใช้วิธียกเลิกการพิจารณาคำร้องขอเสนอขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทุกประเภทในระบบ Adder โดยยังไม่มีมติจาก กพช.ที่ชัดเจน
 
          ขณะที่นักลงทุนส่วนหนึ่งได้ลงทุนพัฒนาโครงการไปแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมยื่นขอขายไฟฟ้าเข้าระบบ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นแล้วหลายล้านบาทจากการดำเนินการทำความเข้าใจกับชุมชน การทำประชาพิจารณ์ การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยตามข้อกำหนดการขออนุญาติรวมถึงการทำรายงานความเป็นไปได้ของโครงการและมีการเดินหน้าหาผู้ร่วมทุน และการขอสินเชื่อจากธนาคาร โดยทั้งหมดอยู่ภายใต้สมมุติฐานของระบบ Adder เพราะระบบ Feed-in tariff ยังไม่ได้ประกาศออกมา
          การหยุดนโยบายโดยฉับพลัน ย่อมไม่เป็นธรรมกับนักลงทุนเหล่านี้ และจะทำให้เกิดการซื้อขายใบอนุญาตขายไฟฟ้าของพลังงานหมุนเวียนอื่นเช่นเดียวกับพลังงานแสงอาทิตย์ ดังนั้นรัฐบาลจึงควรประกาศระยะเวลาสิ้นสุดในการใช้ระ Adder ที่แน่นอน เพื่อให้นักลงทุนทราบล่วงหน้า
          สุวพร เห็นว่านอกจากนั้นการเสนอนโยบายและมาตรการใหม่ ก็ควรจัดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักลงทุน สถาบันการเงิน ผู้ผลิตเทคโนโลยี ผู้บริโภค และภาคประชาชน เพื่อให้การกำหนดมาตรการเป็นไปอย่างเหมาะสมและปฏิบัติได้จริง
          "การยกเลิกการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในระบบ Adder โดยที่ยังไม่มีระบบ Feed-in tariff มารองรับ เพราะต้องผ่านการจัดทำรายละเอียดซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ทำให้เกิดสูญญากาศของการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน"
 
          นอกจากนี้การนำส่วนเพิ่มค่าไฟของพลังงานหมุ่นเวียนประเภทต่างๆ ไปไว้ในค่าไฟฐานตามระบบ Feed-in tariff นั้น ขณะที่ปกติของการปรับเปลี่ยนค่าไฟฐานไม่ได้ทำได้ง่ายๆ หรือทุก 4-5 ปี เพราะต้องประเมินต้นทุนต่างๆ ของการไฟฟ้าทั้งหมดดังนั้น เธอมองว่า มีประเด็นที่น่าคิด คือ การนำต้นทุนไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไปไว้ค่าไฟฐานนั้นหากไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบช้ากว่ากำหนด ก็เท่ากับผู้บริโภคจ่ายค่าไฟไฟล่วงหน้า โดยไม่มีไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้ามา
          พร้อมตั้งข้อสังเกตุอีกว่า นอกจากมาตรการ Feed-in tariff ที่กระทรวงพลังงานจะเสนอแล้ว ยังทราบมาว่า จะมีโครงการส่งเสริมการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชุมชน 1 ตำบล 1 เมกะวัตต์ โดยจะส่งเสริมให้เกิดขึ้นกว่า 1,000 เมกะวัตต์ จึงมีข้อสงสัยว่าแผนงานนี้จะนำมาสู่การยกเลิกการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอื่น เช่น ชีวมวล หรื ก๊าซชีวภาพหรือไม่ ขณะเดียวกันโครงการนี้ย่อมนำมาสู่การจัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์ภายใต้ระบบประมูล
          นอกจากนี้ยังมีโอกาสเกิดปัญหาเหมือนกับโซล่ารโฮมเพราะเทศบาล ตำบล ชุมชน ไม่มีประสบการณ์ด้านเทคนิค จึงอาจถูกหลอกเอาของถูกที่ไม่มีคุณภาพไปขายให้ท้องถิ่น และการทิ้งโครงการไว้กับอุปกรณ์ที่ไม่มีคุณภาพ กลายเป็นซากที่ตำบลและชุมชนดูแลไม่เป็น
          "หากจะทำโครงการนี้ ก็ต้องให้มีระบบประมูลที่โปร่งใสและเป็นธรรม เพราะขณะนี้เริ่มได้ยินข่าวว่ามีคนการเมืองถามราคาแผงจากตัวแทนจำหน่ายบ้างแล้ว" สุวพรกล่าว
          เธอกล่าวตอนท้ายว่า ต้องฝากความหวังไว้ที่ รมว. พลังงาน ในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคและปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเพื่อให้พลังงานหมุนเวียนเกิดขึ้นได้จริง และป้องกันปัญหาการฟ้องร้องไม่ให้เกิดขึ้นจากการที่นักลงทุนไม่ได้รับความเป็นธรรม

 
12  มกราคม  2555
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
Copyright © 2011 Energy For Environment Foundation. All right reserved.
812/66 ซอยประชาชื่น 26 ถนนประชาชื่น แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800
โทรศัพท์ +66 2115 5895  E-mail : jutamas.efe@gmail.com