มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม มพส

โครงการปัจจุบัน

โครงการในอดีต

โครงการปัจจุบัน

  • ผลกระทบของการท่องเที่ยวทีมีต่อความต้องการใช้พลังงานของประเทศ

    มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม
    24 มีนาคม 2559

     
    บทสรุปผู้บริหาร
          เนื่องจากการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ขณะเดียวกันก็มีผลต่อความต้องการใช้พลังงานของประเทศเพิ่มขึ้นทั้งการใช้ทางตรงและทางอ้อม งานวิจัยดังกล่าวนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะวัดผลกระทบของการเติบโตของเศรษฐกิจท่องเที่ยวที่จะมีต่อความต้องการพลังงานของประเทศ ทั้งในส่วนของไฟฟ้า(รวมทั้งแก๊ส) และน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับการคาดประมาณความต้องการพลังงานไฟฟ้าและพลังงานปิโตรเลียมของประเทศต่อไป

          งานศึกษาชุดนี้ได้ครอบคลุมนักท่องเที่ยวเพียงเฉพาะนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เข้ามาแบบพักค้างคืนหรือ overnight visitorsเท่านั้น โดยในปี พ.ศ. 2558 ได้มีนักท่องเที่ยวประเภทนี้เดินทางเข้ามาเท่ากับ 29,881,091 คน และได้ใช้จ่ายเป็นมูลค่า 1,447,158.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.44 และ 23.39 เมื่อเทียบกับปี 2557 ตามลำดับ จำแนกรายละเอียดการใช้จ่ายตาม Tourism satellite Accounts(ระบบบัญชีประชาชาติการท่องเที่ยว) ได้เป็นค่าโรงแรมและที่พักร้อยละ 26.15 ค่าอาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 22.48 ค่ารถโดยสารและรถยนต์อื่นๆร้อยละ 5.27 เป็นต้น เมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายดังกล่าวนี้ เห็นว่าส่วนใหญ่จะเชื่อมโยงกับการใช้พลังงานในทางอ้อม อาทิ ค่าโรงแรมและที่พัก (Accommodation services for visitor) จะมีการใช้ไฟฟ้าเพื่อแสงสว่างและเครื่องปรับอากาศ ค่าอาหารและเครื่องดื่ม(Food and beverage serving services)มีการใช้พลังงานประเภทแก๊สหุงต้มและไฟฟ้า แต่ก็มีบางรายการที่มีความเชื่อมโยงกับการใช้พลังงานประเภทเชื้อเพลิงอย่างเด่นชัด เช่น ค่าโดยสารทางรถไฟ(Railway passenger transport services)ค่าโดยสารรถยนต์(Road passenger transport services)เรือ(Water transport services) และเครื่องบิน(Air passenger transport services)เป็นต้น

           เพื่อคำนวณค่าความต้องการใช้พลังงานของนักท่องเที่ยวให้ครอบคลุมทั้งทางตรงและทางอ้อมในทุกขั้นตอนของการผลิตบริการที่ให้กับนักท่องเที่ยว ในที่นี้จึงได้ใช้ข้อมูลจาก Tourism Satellite Accounts 2014 ร่วมกับ Tourism Input-Output table 2010 ของประเทศไทย และใช้ Input-Output model เป็นเครื่องมือในการคำนวณหาค่าผลกระทบดังกล่าว

          ผลจากการศึกษาพบว่า ในกรณีที่สมมุติว่ามีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในทุกๆจำนวน 1 ล้านคน จะมีผลทำให้ความต้องการพลังงานประเภทน้ำมันเชื้อเพลิง(Petroleum Refineries) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.05 เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา ในขณะที่ความต้องการพลังงานประเภทไฟฟ้าและแก๊ส(Electricity and Gas)เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.10 จึงสรุปได้ว่าปัจจัยจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศมีผลทำให้เกิดความต้องการบริโภคพลังงานในอัตราที่สูงขึ้น แต่อาจจะยังไม่ถือว่าสูงมากนัก และเมื่อพิจารณาจากข้อมูลจริงของจำนวนนักท่องเที่ยวล่าสุดในเดือนธันวาคม 2558 ที่ผ่านมาซึ่งมีประมาณ 2.987 ล้านคน จึงคาดว่าความต้องการพลังงานประเภทเชื้อเพลิงเฉลี่ยทั้งเดือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.15 และพลังงานประเภทไฟฟ้าและแก๊สจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.3 (เมื่อเทียบกับการไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา) ซึ่งอัตราดังกล่าวอาจมีส่วนกระทบต่อ peak load ในเดือนที่มีจำนวนการใช้ไฟฟ้าสูงสุดได้บ้างแต่อาจไม่มีผลมากนัก

    คลิกเพื่ออ่านเพิ่มเติม

  • “โครงการส่งเสริมการลงทุนด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนด้วยเงินทุนหมุนเวียน (ESCO Revolving Fund)”

           กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้มอบหมายให้ มพส. เป็นหนึ่งในผู้บริหารโครงการส่งเสริมการลงทุนด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนด้วยเงินทุนหมุนเวียน (ESCO Revolving Fund) ปัจจุบันดำเนินโครงการในระยะที่ 4 แบ่งเป็น (1.ช่วงดำเนินการส่งเสริมการลงทุน : เมษายน 2558 –  มีนาคม 2560) ,(2.ช่วงดำเนินการติดตามและบริหารการลงทุน : เมษายน 2560 – มีนาคม 2565)

           โดย มพส. ได้รับจัดสรรให้บริหารจำนวน 300 ล้านบาท ภายใต้การสนับสนุนทางการเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการลงทุนด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน โดยให้ความช่วยเหลือด้านการลงทุนแก่ผู้ประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรมและ/หรือบริษัทจัดการพลังงาน (Energy Service Company - ESCO) ที่มีศักยภาพในการพัฒนาโครงการด้านอนุรักษ์พลังงานหรือพลังงานทดแทน ซึ่งต้องการลดปริมาณการใช้พลังงาน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน หรือต้องการลงทุนด้านพลังงานทดแทนแต่ยังขาดปัจจัยการลงทุน

           ทั้งนี้ มพส. กำลังเปิดรับและพิจารณาข้อเสนอจากผู้ประกอบการที่มีความสนใจลงทุนในโครงการด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน
    โดยสามารถคลิกอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

  • การดำเนินโครงการกลไกพลังงานสีเขียว (Green Energy Mechanism)

              มพส. ได้เริ่มดำเนินโครงการกลไกพลังงานสีเขียว เมื่อปลายปี 2551 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความร่วมมือจากรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนที่ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ในการให้การสนับสนุนการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ห่างไกลระบบส่งไฟฟ้าและพื้นที่ทุรกันดาร รวมถึง การส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการส่งเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน โดยในระยะยาวจะขยายสู่การเป็นตลาด ไฟฟ้าสีเขียวที่ผู้บริโภคและภาคเอกชนทั่วไปจะเลือกซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสีเขียวควบคู่ไปกับการรับบริจาคการสนับสนุนการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน

              ในช่วงแรกของการพัฒนาโครงการ เพื่อเป็นตัวอย่างระดมการสนับสนุนจากภาคเอกชน มพส. ได้ใช้เงินสนับสนุนจากสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ในการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กระดับหมู่บ้าน โครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์เพื่อใช้ทดแทนก๊าซหุงต้ม โครงการติดตั้งกังหันลมขนาดเล็ก โครงการพัฒนาประสิทธิภาพเตานึ่งใบเมี่ยง โครงการปรับปรุงระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์และการอบรมวิธีการบำรุงรักษา

              กลไกพลังงานสีเขียว จัดตั้งขึ้นด้วยความร่วมมือของ 3 ภาคส่วน ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน และ มพส. ร่วมกันจัดตั้งและบริหารจัดการเงินสนับสนุนกลไกพลังงานสีเขียวในรูปแบบของกองทุน โดยมีคณะกรรมการกำกับดูแลและบริหารจัดการกองทุนที่ได้รับเงินสนับสนุนจากภาคเอกชนทำหน้าที่บริหารจัดการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้ให้การสนับสนุน ซึ่งกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ให้การรับรองการเข้าร่วมโครงการและตราสัญลักษณ์ “Green Energy Mark” เพื่อมอบให้ผู้ให้การสนับสนุนโครงการดังกล่าวนำไปใช้เป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์ และการส่งเสริมการตลาด โดย มพส. จะทำหน้าที่ประสานหน่วยงานในพื้นที่/องค์กรพัฒนาทองถิ่น และดำเนินการระดุมทุนเพื่อพัฒนาโครงการ

     

    ดูผลงานกลไกพลังงานสีเขียว


Copyright © 2011 Energy For Environment Foundation. All right reserved.
812/66 ซอยประชาชื่น 26 ถนนประชาชื่น แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800
โทรศัพท์ +66 2115 5895  E-mail : jutamas.efe@gmail.com