มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม มพส

ข่าวสารและกิจกรรม

ข่าวทั่วไป

บทความ

ข่าวทั่วไป

กกพ. จับมือ ส.อ.ท. ทำความเข้าใจหลังออกประกาศรับซื้อไฟฟ้า Solar PV Rooftop

      สำนักงาน กกพ. ร่วมมือกับ กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดงานเสวนาสร้างความรู้และความเข้าใจ  ภายหลังออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจาก Solar PV Rooftop ย้ำการกำกับดูแลด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรมในทุกขั้นตอน

      นายกวิน ทังสุพานิช เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เปิดเผยถึงแนวทางการกำกับดูแลการรับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสง อาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาให้เกิดความเป็นธรรมและโปร่งใสในงาน “เสวนาสร้างความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการรับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) ”โดยมีกลุ่มผู้ประกอบการกว่า 200 คนเข้าร่วมรับฟัง สำหรับการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจาก Solar PV Rooftop ว่า ครั้งนี้ ได้คาดการณ์ว่าในช่วงของวันเปิดรับซื้อไฟฟ้า ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน - 11 ตุลาคม 2556 จะมีผู้สนใจเดินทางมายื่นคำขอขายไฟฟ้ากันเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจเกินกว่าจำนวนเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้เนื่องจากมีปัจจัยหลายด้านที่ สนับสนุน เช่น นโยบายการสนับสนุนจากภาครัฐที่มีความชัดเจน โดยใช้อัตรารับซื้อไฟฟ้าตามต้นทุนจริง หรือ Feed-in Tariff (FiT) โดยแบ่งเป็นกลุ่มบ้านอยู่อาศัย รับซื้อในอัตรา6.96 บาทต่อหน่วย กลุ่มอาคารธุรกิจขนาดเล็ก รับซื้อในอัตรา 6.55 บาทต่อหน่วย และกลุ่มอาคารธุรกิจขนาดกลาง -ใหญ่ รับซื้อในอัตรา 6.16 บาทต่อหน่วย และมีระยะเวลาสนับสนุน 25 ปี นับจากกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Scheduled Commercial Operation Date : SCOD) รวมทั้งภูมิอากาศของประเทศไทยมีความเข้มข้นของแสงอาทิตย์ที่เพียงพอต่อการ ผลิตกระแสไฟฟ้า

      “กกพ.จะกำกับดูแลการรับซื้อไฟฟ้าอย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมกับผู้ที่สนใจเข้าร่วมขายไฟฟ้าจาก Solar PV Rooftop ทุกราย เนื่องจากอยากให้ทุกคนมีสิทธิ์ในการได้รับการคัดเลือกเท่าเทียมกัน โดยการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจะเรียงลำดับคำขอไฟฟ้าตามวันและเวลาที่ได้รับเอกสาร และตามความครบถ้วนสมบูรณ์ของเอกสารในกรณีที่คำขอและเอกสารหลักฐานไม่ครบถ้วน ผู้ยื่นขอจะต้องจัดส่งข้อมูลเพิ่มเติมก่อนวันและเวลาปิดรับคำขอ โดยให้ถือเอาวันและเวลาที่ได้รับข้อมูลและเอกสารเพิ่มเติมหลังสุดเป็นวันและ เวลาที่ได้รับคำขอขายไฟฟ้า จากนั้นการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจะทยอยประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2556 เป็นต้นไป และเมื่อการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายได้ทยอยประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกแล้ว ผู้ที่ได้รับคัดเลือกสามารถเริ่มดำเนินการยื่นขอใบอนุญาตประเภทต่าง

      โดยยื่นเอกสารได้ที่ สำนักงาน กกพ.อาทิ ใบอนุญาตดัดแปลงอาคาร ตามมาตรา 39 ทวิ (พ.ร.บ.ควบคุมอาคารโรงงาน) ใบขออนุญาตติดตั้ง หรือขยายโรงงาน (รง.4) เป็นต้น” นายกวิน กล่าว

      ด้าน นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ ผู้อำนวยการฝ่ายใบอนุญาต สำนักงาน กกพ. กล่าวถึง กระบวนการ ขั้นตอนการขอใบอนุญาตว่า หลังจากที่มีการประกาศผลการรับซื้อแล้ว ผู้ที่มีสิทธ์เข้าร่วมโครงการ สามารถเริ่มดำเนินการยื่นขอใบอนุญาตประเภทต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยโครงการที่อยู่ในพื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวง สามารถติดต่อขอรับแบบฟอร์มต่างๆ เช่น แบบแจ้งขอดัดแปลงอาคาร แบบคำขอรับใบอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม แบบแจ้งขอยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า และแบบฟอร์มอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ที่ สำนักงาน กกพ. ส่วนผู้ที่มีสิทธ์เข้าร่วมโครงการที่อยู่ในพื้นที่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สามารถติดต่อขอรับเอกสารดังกล่าวได้ที่สำนักงาน กกพ. ประจำเขตทั้ง 13 เขต ทั่วประเทศทั้งนี้ หากไม่สะดวกที่จะเดินทางมาขอรับแบบฟอร์มก็สามารถดาวน์โหลดได้จาก www.erc.or.th

      “สำหรับกรณีต้องขออนุญาตดัดแปลงอาคาร ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถยื่นแจ้งดัดแปลงอาคารได้ที่ สำนักงาน กกพ. หรือ สำนักงาน กกพ. ประจำเขตทั้ง 13เขต และเมื่อได้ใบรับแจ้งการดัดแปลงอาคารแล้วหรือเป็นอาคารที่เข้าข่ายไม่ต้องขอ รับใบอนุญาตดัดแปลงอาคาร ผู้เข้าร่วมโครงการจะสามารถเริ่มติดตั้งระบบ Solar PV Rooftop ได้โดยจะใช้เวลาประมาณ 30 วัน ซึ่งเมื่อติดตั้งระบบเสร็จให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม (พค.2) และแบบแจ้งการประกอบกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาต ได้ที่ สำนักงาน กกพ. หรือ สำนักงาน กกพ. ประจำเขต 13 เขต หลังจากที่ได้รับใบอนุญาต พค.2 แล้ว ให้แจ้งการไฟฟ้าฯ เพื่อตรวจสอบการเชื่อมต่อระบบ ซึ่งหากเป็นไปตามมาตรฐานที่การไฟฟ้าฯ กำหนดก็จะสามารถเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้ ทั้งนี้ต้องเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2556” นายคมกฤช กล่าวเสริม

      นายกวิน กล่าวต่อถึงต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจาก Solar PV Rooftop ว่า ค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 60,000 บาทต่อการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ขนาด 1 กิโลวัตต์ ซึ่งจะผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 1,300 หน่วยต่อปี และจะสามารถสร้างรายได้เฉลี่ยประมาณ 8,000-9,000 บาทต่อปีและจุดคุ้มทุนจะอยู่ประมาณ 6-7 ปี ซึ่งการลงทุนอาจจะดูสูงเมื่อเทียบกับรายได้ต่อ 1 กิโลวัตต์ต่อปี แต่หากมองในระยะยาวซึ่งมีอายุของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าครอบคลุมถึง 25 ปีด้วยเหตุนี้ จึงเป็นความคุ้มค่าทั้งในด้านราคา และด้านการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ เพราะราคาไฟฟ้าที่เรียกเก็บอยู่ในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3.75บาทต่อหน่วย แต่ขณะเดียวกันผู้ที่ติดตั้ง Solar PV Rooftop ในกลุ่มบ้านอยู่อาศัย สามารถขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายได้ในราคา 6.96 บาทต่อหน่วย กลุ่มอาคารธุรกิจขนาดเล็กราคา 6.55 บาทต่อหน่วย และกลุ่มอาคารธุรกิจขนาดกลาง -ใหญ่ราคา 6.16 บาทต่อหน่วย

      “บ้านอยู่อาศัยสามารถสร้างรายได้เฉลี่ยประมาณ 8,000-9,000 บาทต่อปีต่อ 1 กิโลวัตต์ ซึ่งตามหลักเกณฑ์สามารถผลิตได้ถึง 10 กิโลวัตต์ เท่ากับคนที่ติดตั้งนอกจากจะมีรายได้แล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดภาระทั้งด้านการนำเข้าก๊าซธรรมชาติที่ปัจจุบันมี สัดส่วนถึง 70% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ส่วนกลุ่มอาคารธุรกิจ หรือภาคอุตสาหกรรม นอกจากจะมีรายได้จากการขายไฟฟ้าแล้ว ผู้ประกอบการยังสามารถลดต้นทุนการผลิตให้กับอุตสาหกรรมของตนเองได้อีกด้วย เนื่องจากการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าว เป็นสัญญาแบบ Non-Firm ซึ่งสามารถนำไฟฟ้ากลับมาใช้ในการผลิตในอุตสาหกรรมของตนเองได้” นายกวิน กล่าว

12 กันยายน  2556

http://www.thannews.th.com


Copyright © 2011 Energy For Environment Foundation. All right reserved.
812/66 ซอยประชาชื่น 26 ถนนประชาชื่น แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800
โทรศัพท์ +66 2115 5895  E-mail : jutamas.efe@gmail.com