มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม มพส

ข่าวสารและกิจกรรม

ข่าวทั่วไป

บทความ

ข่าวทั่วไป

ผลิตไฟจากหญ้าเนเปียร์ไม่คุ้ม ก.พลังงานสั่งทบทวนค่าไฟพลังงานทดแทน


       กระทรวงพลังงานสั่งทบทวนค่าไฟฟ้าพลังงานทดแทนทั้งระบบปรับ เป็น Feed in Tariff ที่ให้แยกเป็น 4 ระดับ โดยกำลังการผลิตต่ำจะได้รับค่าไฟมากขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชนสามารถผลิต ได้เนื่องจากมีต้นทุนสูง ยอมรับ “หญ้าเนเปียร์” ไม่คืบ เหตุพบการรับซื้อหญ้าราคา 300 บาทต่อตันไม่คุ้มการผลิต เหตุค่าปุ่ย ค่าแรงแพงมากทำให้คนไม่ปลูก
              
       นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานสัมมนาวิชาการนานาชาติ เรื่องนวัตกรรมก๊าซชีวมวล ว่า ขณะนี้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายแผนและพลังงาน (สนพ.) ทบทวนค่าไฟฟ้าส่งเสริมพลังงานทดแทนทั้งระบบ โดยให้ปรับเป็นค่าสนับสนุนเงินตามการลงทุนที่แท้จริง (feed in tariff) ทดแทนระบบค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่ม (Adder) โดยมีเป้าหมายคือ ผลตอบแทนการลงทุนไม่เกิน 12% และไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าฐานมากเกินไป
       
       สำหรับ Feed in Tariff ที่ปรับใหม่ ค่าไฟฟ้าที่ปรับเป็น 4 อัตราให้โรงเล็กได้ค่าไฟฟ้าสูงและโรงใหญ่ได้ค่าไฟฟ้าต่ำกว่า แบ่งออกเป็น 1. โรงไฟฟ้าขนาดไม่เกิน 0.3 เมกะวัตต์ 2. ขนาด 0.3-1 เมกะวัตต์ 3. ขนาด 1-3 เมกะวัตต์ และ 4. ขนาด 3-10 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าการศึกษาจะเสร็จสิ้นโดยเร็ว และให้นำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช.ในเดือนธันวาคมนี้ พร้อมๆ กับเรื่องขยายการรับซื้อไฟฟ้าจากหลังคา หรือโซลาร์รูฟท็อป และการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังไฟฟ้า หรือพีดีพีฉบับใหม่
       
       “การปรับปรุงเป็น 4 ระดับ เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนระดับเล็กๆ มาร่วมลงทุนได้มากขึ้น หลังจากที่ผ่านมาค่าสนับสนุนราคาเดียวไม่จูงใจ” รมว.พลังงานกล่าว
       
       ทั้งนี้ ในส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์ เอกชนได้ร้องเรียนว่า การคำนวณค่าไฟฟ้าของ สนพ.อาจผิดพลาดที่ให้อัตรา feed in tariff 4.50 บาท/หน่วย 20 ปี บนพื้นฐานค่ารับซื้อหญ้า 300 บาท/ตัน เป็นอัตราที่ไม่ถูกต้องเพราะต้นทุนสูงกว่านี้บางแห่งมากกว่า 600 บาท/ตัน เพราะต้องมีค่าแรงงาน ค่าปุ๋ยถึง 4,000 บาทต่อตัน ทำให้เกษตรกรไม่สนใจปลูกหญ้ามากนัก
       
       “ที่ผ่านมามีการให้ผู้สนใจเสนอโครงการผลิตไฟจากหญ้าเนเปียร์มารวม 6 เดือนแล้วมีผู้สนใจมากแต่ผู้ประกอบการก็ไม่อยากตั้งโรงงานเพราะร้องเรียนว่า ค่าไฟต่ำเกินไป ซึ่งตอนนั้นก็มีการคิดค่าไฟบนพื้นฐานที่ราคาหญ้าเนเปียร์ 300 บาทต่อตันแต่ของจริงไม่มีใครอยากปลูกหญ้าเนเปียร์เพราะถ้าขาย 300 บาทต่อตันไม่คุ้ม เฉพาะค่าปุ๋ยก็ตันละ 4,000 บาทแล้วก็มีปัญหาทำให้ไม่มีใครอยากผลิตไฟถ้าจะผลิตก็ต้องเพิ่มค่าไฟให้อีก อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ไปศึกษาวิธีการเพิ่มผลผลิตหญ้าเนเปียร์ต่อไร่ให้มากขึ้นประกอบด้วย” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว

18  พฤศจิกายน  2556

http://www.manager.co.th

Copyright © 2011 Energy For Environment Foundation. All right reserved.
812/66 ซอยประชาชื่น 26 ถนนประชาชื่น แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800
โทรศัพท์ +66 2115 5895  E-mail : jutamas.efe@gmail.com